คาดผล“ภาษีทรัมป์”ทำส่งออก"สหรัฐ"ร่วงสวนนำเข้า"จีน”พุ่ง

ลุ้น 2 เม.ย. สหรัฐประกาศอัตราภาษี คู่ค้าเกิดดุลเชื่อไทยไม่รอด หวังตั้งวงเจรจาลดผลกระทบการค้า คาดผลภาษีเพิ่มทำจีดีพีไทยลด 1% ผวาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย
ลุ้น 2 เม.ย. สหรัฐประกาศอัตราภาษี คู่ค้าเกิดดุลเชื่อไทยไม่รอด หวังตั้งวงเจรจาลดผลกระทบการค้า คาดผลภาษีเพิ่มทำจีดีพีไทยลด 1% ผวาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยซ้ำเติมปมส่งออกโตท่ามกลางภาคการผลิตลด ปัจจัยทำไทยรั้งท้ายเศรษฐกิจฟื้นตัว ห่วงท่องเที่ยว-อสังหาฯรับผลแผ่นดินไหว แนะไทยเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปั้มรายได้ลดบาทแผลจากหนี้ครัวเรือน-ภาคเอกชน
ในการสัมมนา Thailand ‘s Economic and Consumer Finance Outlook จัดโดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ประเทศไทย
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในหัวข้อ “Thailand s’2025 Economic Outlook” ว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่าปี 2568 เศรษฐกิจไทย จะเติบโตได้ 2.4% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงสหรัฐกำหนดประกาศขึ้นภาษีคู่ค้าที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า ในวันที่ 2 เม.ย. นี้ คาดว่าไทยอาจได้รับผลกระทบ จากการที่ไทยเป็นคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ 4.5 หมื่นล้านบาท
เบื้องต้นหากสหรัฐขึ้นภาษีไทยราว 10% จะทำให้จีดีพีไทย ลดลง 1% ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่จะประกาศใช้จริง และการเจรจาที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ โดยปี 2568 การส่งออกไทยจะเติบโต 1.6% จากปี 2568 ที่เติบโตถึง 5.8% โดยครึ่งปีแรก จะมีปัจจัยบวกจากการระดมส่งออกเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษี ,ช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกทองคำ ส่วนปัจจัยลบได้แก่ การสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันจากการเข้ามาของสินค้าจีน ด้านการส่งออกครึ่งปีหลัง ปัจจัยบวกยังเป็นเรื่องอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจัยลบจะมีมากกว่าคือการสูญเสียความสามารถการแข่งขัน กำแพงภาษีจากสงครามการค้า ฐานการส่งออกที่สูงในปีที่ผ่านมา
ส่งออกไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐสูง12%
สำหรับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกสัดส่วนถึง 18%ของตลาดส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เฉลี่ยเพียง 12% ทำให้ผลกระทบจะสูงมากแต่ต้องรอผลการเจรจาที่อาจเป็นรูปแบบการซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น เพราะ นอกจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า หรือ Tariff แล้ว สหรัฐอาจมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือแม้แต่มาตรฐานภาษีการค้า รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวตซึ่งมีการนำมาใช้เพื่อกำหนดโครงสร้างการค้าของสหรัฐไม่ให้ขาดดุลการค้ามากเหมือนที่ผ่าน
นอกจากนี้ พบว่า ทรัมป์ 2.0 ไม่เหมือน ทรัมป์ 1.0 ที่เดิมเป็นการมุ่งขึ้นภาษีแบบเจาะจง เช่น กับจีน แต่ในรอบนี้ สหรัฐมีเป้าหมายใช้การค้าเพื่อจัดการทั้งเรืื่องผู้อพยพ การจัดการด้านความมั่นคง ซึ่งไทยอาจต้องต่อรองกับสหรัฐในกรอบที่กว้างออกไปจากภาคการค้า เช่น การเข้าไปลงทุนในสหรัฐ หรือ ซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งเชื่อว่ารูปแบบการเจรจาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะสหรัฐเองก็ต้องจัดการกับเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นหากสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆด้วย
นายยรรยง กล่าวอีกว่า ท่ามกลางการส่งออกสินค้าไปสหรัฐเพิ่มขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันไทยก็นำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น เป็น 25% หรือ 1 ใน 4 ของการนำเข้าของไทยทั้งหมด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการย้ายฐานการผลิตจากจีน และ ผลจาก China Flooding ซึ่งเป็นผลจากการระบายอุปทานที่ผลิตเกินความต้องการในจีน (Oversupply)
ทุนจีนถล่มภาคการผลิตไทยทรุด
โครงสร้างการค้าของไทยแบบนี้ ไม่สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย พบว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกและนำเข้าของไทยเพิ่มขึ้น แต่การผลิตของไทยน้อยลงเนื่องมาจาก ภาคการผลิตของไทยถูก disrupt จากทุนจีน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ในรูปแบบยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี และ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
โดยปี 2568 เศรษฐกิจโลก จะขยายตัว 2.6% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่ไม่ต่างกับอัตราขยายตัวในระยะยาว ซึ่งอยู่ที่ 3% โดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.4% เป็นการฟื้นตัวเทียบจากช่วงโควิดอยู่ในลำดับที่ 162 จาก 189 ซึ่งเป็นลำดับรั้งท้าย โดยพบว่า จีดีพีจริงของไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาก และช่องว่างดังกล่าวก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเพื่อเพิ่มการเติบโตจีดีพี หรือรายได้ให้มาชดเชยหนี้สินที่ยังอยู่ในเศรษฐกิจอีกมาก ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี ก็จะมีการลงทุนลดลงและยิ่งทำให้การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันลดลงไปด้วย สะท้อนจากตัวเลขการจดตั้งธุรกิจใหม่ ่ช่วง 2 เดือนแรกปี 2568 พบว่า มีสัดส่วนลดลง 5.1% ขณะที่การปิดกิจการ เพิ่มขึ้นถึง 16.9% 0
หนี้ชนเพดานกระตุ้นศก.ต้องรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม ไทยมีสัดส่วนก่อหนี้สาธาณะที่ใกล้เพดานที่ 70% แล้ว หากจะกู้เพิ่ม หรือแม้แต่ขยายเพดาน ก็ต้องทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบที่สุด ทั้งนี้ประเมินว่า ด้านดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยม(ธปท.) จะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งเพื่อทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 1.5% จาก 2%ในปัจจุบัน
นายยรรยง กล่าวถึงผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว คาดว่าจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจสูญเสีย ราว 3 หมื่นล้านบาท จากการ ท่องเที่ยวที่พบสัญาณการยกเลิกห้องพัก และเที่ยวบินแล้ว เนื่องจากความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย โดนช่วง เม.ย.นี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงราว 4 แสนคน จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 38.2 ล้านคน
นอกจากนี้เหตุแผ่นดินไหว ยังทำให้ยอดโอนคอนโดหรืออาคารสูง กรุงเทพและปริมณฑลลดลง 1% ทำให้ยอดคงค้างคอนโด ราว 7.4 ยูนิตไม่ลดลง
“เรื่องแผ่นดินไหว คาดว่าจะกินเวลา ราว 3-4 เดือน กว่าจะฟื้นความเชื่อมั่นทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและการโอนอาคารสูง แต่หากภาครัฐมีมาตรการที่ดีก็จะทำให้สถานการณ์ฟื้นตัวเร็วขึ้น”
นายพชร ศรายุทธ ผู้อำนวยการ สถาบันการเงิน ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดการปัญหาหนี้ ในระบบที่เป็นกลุ่มNPL เบื้องต้นยังไม่สูงมาก ซึ่งตลาดได้จัดการไปแล้วในระดับหนึ่งแต่หากจะมีการซื้อหนี้มาจัดการหากเป็นรูปแบบผ่อนน้อย ผ่อนนานก็จะไม่ทำให้สัดส่วนหนี้ลดลง แต่อาจช่วยเรื่องความสามารถการใช้จ่ายที่มีมากขึ้นได้ ซึ่งแนวทางจัดการหนี้ที่ดีที่สุดคือการเพิ่มรายได้หรืออำนวยความสะดวกเพื่อสร้างความสามารถการเพิ่มรายได้มากกว่า