สัญญาใหม่ 'ไฮสปีดสามสนามบิน' วางแบงก์การันตี 1.6 แสนล้าน ใน 270 วัน

สัญญาใหม่ 'ไฮสปีดสามสนามบิน' วางแบงก์การันตี 1.6 แสนล้าน ใน 270 วัน

เปิดเงื่อนไขสัญญาใหม่ "ไฮสปีดสามสนามบิน" ภาครัฐยอมปรับเงื่อนไขสร้างไปจ่ายไป แต่ยันไม่เสียประโยชน์ จี้เอกชนวางแบงก์การันตีเพิ่ม 1.6 แสนล้านบาท ภายใน 270 วัน

KEY

POINTS

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ปัจจุบันลงนามร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาราว 6 ปี นับจากวันที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือหุ้นใหญ่ ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562

แต่ปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่สามารถเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างงานโยธาได้ สืบเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 และเป็นผลให้เอกชนขอรับการเยียวยาผลกระทบ และเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อปรับแก้สัญญาร่วมลงทุน โดยจากการเจรจาในช่วงที่ผ่านมามีข้อสรุปของการแก้ไขสัญญา 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐแบ่งจ่าย 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นลักษณะสร้างไปจ่ายไป โดยรัฐจ่ายเงินสนับสนุนเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานที่ รฟท.ตรวจรับ และกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของรัฐทันทีตามงวดการจ่ายเงิน

2.กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่ากัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดอย่างมีนัยสําคัญ

4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยกำหนดให้ รฟท.สามารถออกหนังสือ NTP ได้โดยไม่ต้องรอเอกชนรับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อให้ รฟท.ออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมด

5. ปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น

โดยความคืบหน้าล่าสุด คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการนี้ ซึ่งจะดำเนินการปรับแก้รายละเอียดสัญญาตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาตตะวันออก (กพอ.) ที่มีมติให้แก้ไข 5 ประเด็นหลักข้างต้น และความคืบหน้าครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติมหากาพย์ “ไฮสปีดสามสนามบิน” ที่มีวี่แววว่าใกล้จะลงนามสัญญาใหม่ และถึงเวลาตอกเสาเข็มก่อสร้าง

“อนันต์ โพธิ์นิ่มแดง” รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนครั้งนี้มี 2 ประเด็นหลัก คือ

  • วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน ซึ่งบอร์ด รฟท.กำชับว่ารัฐต้องไม่เสียประโยชน์ โดย รฟท.ยืนยันว่าวิธีการนี้ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากการปรับมาเป็นวิธีการสร้างไปจ่ายไป โดยหลังชำระค่าก่อสร้างแล้ว รัฐจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในงานโยธา
  • ข้อกำหนดให้เอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ต้องวางเงินหลักประกัน หรือ แบงก์การันตีเพิ่มเติมจากกรอบสัญญาเดิมรวมประมาณ 160,000 ล้านบาท เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างเสร็จภายใน 5 ปี

อย่างไรก็ดี หลักประกันที่เอกชนต้องนำมาวางในโครงการนี้ จึงจะแบ่งออกเป็น

หลักประกันตามสัญญาเดิม 2 ส่วน คือ

  • หลักประกันสัญญา วงเงิน 4,500 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี
  • หนังสือค้ำประกันผู้ถือหุ้น วงเงิน 149,650 ล้านบาท ตลอดสัญญา 50 ปี

ส่วนหลักประกันเพิ่มเติมที่เอกชนต้องนำมาวางการันตีในการดำเนินโครงการนี้ รวมวงเงินประมาณ 160,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำมาวางให้กับ รฟท.ภายใน 270 วันหลังลงนามแก้ไขสัญญา ประกอบด้วย

1. หนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างงานโยธา 125,932.54 ล้านบาท

2. หนังสือค้ำประกันงานระบบ 14,813.49 ล้านบาท

3. หนังสือค้ำประกันคุณภาพเดินรถ 748.25 ล้านบาท

4. หนังสือค้ำประกันค่าสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) 10,671 ล้านบาท โดยวันลงนามสัญญาใหม่ เอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิบริหาร ARL งวดแรกทันทีประมาณ 1,500 ล้านบาท และส่วนที่เหลือกำหนดทยอยชำระรวม 7 งวด

“หลักประกันก้อนใหม่ เอกชนยังไม่ต้องวางหลักประกันทันทีที่ลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยใช้เวลาหาหลักประกันได้ และนำมาวางให้ รฟท.ภายใน 270 วันนับจากลงนามสัญญา หรือเมื่อต้องการเบิกรับเงินสนับสนุนต้องวางหลักประกันทันที โดยการสร้างไปจ่ายไปจะทยอยจ่าย 5 งวด งวดละประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยเมื่อเอกชนสร้างงานโยธาเสร็จ มาส่งงานก็จะสามารถคืนแบงก์การันตีเท่าจำนวนงวดงานกลับไปด้วย”

ทั้งนี้ ภายหลังผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด รฟท.แล้ว ร่างสัญญาฉบับใหม่จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ก่อนเสนอไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะแล้วเสร็จ พร้อมลงนามสัญญาภายในเดือน มิ.ย.2568 หลังจากนั้น รฟท.พร้อมออกหนังสือ NTP เพื่อให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้าง และแล้วเสร็จภายใน 5 ปีนับจากนี้