พาณิชย์จ่อหั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปี ผลจากทรัมป์ปรับขึ้นภาษี

พาณิชย์จ่อหั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปี ผลจากทรัมป์ปรับขึ้นภาษี

พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือนมี.ค.สูงขึ้น 0.84 %  ไตรมาสแรกเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.08 % คาดไตรมาส 2 เงินเฟ้อลดลงเตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่เดือน พ.ค.ผลจากนโยบายทรัมป์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือนมี.ค. 2568 เท่ากับ 100.35 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.84 % โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน เป็นสำคัญ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน  เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.86%

ทั้งนี้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่สูงขึ้น 0.84%   มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.35 %  จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มผลไม้สด (ทุเรียน ฝรั่ง สับปะรด มะพร้าวอ่อน)

กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย)

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด ผักกาดขาว ขิง ผักชี ต้นหอม มะเขือ ขึ้นฉ่าย) ไข่ไก่ ไก่ย่าง ผลไม้บางชนิด (องุ่น มะละกอสุก) และอาหารโทรสั่ง (Delivery)

พาณิชย์จ่อหั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปี ผลจากทรัมป์ปรับขึ้นภาษี

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.18 %  จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยารีดผ้า) เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษและสตรี) ขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี 

นายพูนพงษ์ กล่าว สำหรับเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2568 สูงขึ้น 1.08 %  ต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย เดิมคาดการณ์ไว้ที่ ที่ 1.13 % ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานช่วงไตรมาสแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 0.89% 

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 2 ปี 2568 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 ประมาณ 0.1-0.2 %  ก็จะทำให้เงินเฟ้อไตรมาส 2 อยู่ระหว่าง 0.14-0.15 %  โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีผลพอสมควรเนื่องจากราคาน้ำมันในทุกประเภท จะต่ำกว่าไตรมาส 2 ปี  67 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง  ฐานราคาผักสดและไข่ไก่ในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่า ปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น

การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก โดยราคาในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน และ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช และ อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น

“สนค.กำลังพิจารณาปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี เนื่องจากผลของ มาตรการทางภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์  ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 0.3-1.3%  แต่คงไม่มาก จึงขอพิจารณาข้อมูลในรายละเอียดอีกครั้ง คาดกว่าจะแถลงตัวเลขใหม่ในเดือนพ.ค.ซึ่งผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะไม่ลงไปถึงระดับติดลบ   ”นายพูนพงษ์ กล่าว

ในส่วนของกลุ่มที่เป็นภาคบริการ ทั้งของภาครัฐและเอกชน กลุ่มนี้ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าบริการทางการศึกษา ไม่ได้ส่งผลกระทบ ส่วนของภาคเอกชน เป็นค่าบริการ จะไม่ส่งผลกระทบเช่นกัน

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนก.พ. 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น  1.08 %   ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 22 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)