เกษตรกรเสี่ยง ถูกกดราคา รับแรงกระแทกมาตรการภาษีทรัมป์

เกษตรกรเสี่ยง ถูกกดราคา รับแรงกระแทกมาตรการภาษีทรัมป์

เกษตรกรเลี่ยงยาก รับแรงเหวี่ยงภาษีทรัมป์ เร่งปรับคุณภาพสินค้าขึ้นตลาดพรี่เมี่ยม พร้อมปรับกลยุทธ์การค้า เพิ่มความหลากหลาย หาคู่ค้ารายใหม่ ลดความเสี่ยงกำแพงภาษี

แหล่งขาวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าตามที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษี กับไทย 36 % ในลักษณะเหมารวมทุกรายการ นั้นคาดว่าในภาคการเกษตรจะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่เกษตรกรได้รับในที่สุด ซึ่งสืบเนื่องมาจากการแข่งขันการส่งออกที่รุนแรงมากขึ้น แม้ว่าสินค้าเกษตรจะมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดสหรัฐประมาณ 8-9 %เท่านั้น

สินค้าที่จะได้รับผลกระทบคือสินค้าที่ส่งออกลำดับต้นๆ ในตลาดสหรัฐ เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น กรณี ข้าวหอมมะลิ เมื่อต้องจ่ายในอัตราภาษีใหม่ จะทำให้ข้าวของไทยราคาสูงขึ้นทันทีจาก 700-800ดอลลาร์ เป็น 1,300 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อพิจารณาคู่แข่งที่สำคัญคือเวียดนาม ที่สหรัฐเรียกเก็บภาษี 46 % จะทำให้ข้าวสูงขึ้นเป็น 800-1,000 ดอลาร์ต่อตัน ดังนั้นมีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจซื้อข้าวของเวียดนามมีสูง เนื่องจากข้าวของไทยแพงเกินไป

เกษตรกรเสี่ยง ถูกกดราคา รับแรงกระแทกมาตรการภาษีทรัมป์

 

การเตรียมรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากไทยต้องปรับคุณภาพข้าวให้อยู่ในตลาดพรี่เมี่ยมแล้ว ยังต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ศึกษาการตลาดของคู่แข่งเพื่อปรับแผนการตลาดใหม่ เนื่องจากเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่ผลิตสินค้าคล้ายๆกันแล้ว ไทยถูกเรียกเก็บภาษีมากที่สุด ในขณะที่รัฐบาลต้องหาแนวทางเจรจากับสหรัฐ เพื่อให้ปรับลดภาษีบางรายการ โดยใช้วิธียื่นข้อตกลงเพื่อนำเข้าสินค้าของสหรัฐในรายการทีไทยจำเป็นต้องใช้และนำเข้าเป็นจำนวนมาก เช่นกากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้รัฐบาลต้องเตรียมรับมือสินค้าจากจีนที่จะทะลักเข้ามาในประเทศไทยทั้งอย่างถูกต้อง และลักลอบสินค้าเถื่อน เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐได้ดังเดิม

 

“ไทยควรปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เนื่องจากมาตรการทางภาษีกับจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้ไทยอาจต้องกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก โดยการเปิดตลาดใหม่ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะสหรัฐฯ และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจาก การตั้งกำแพงภาษีหรือนโยบายใหม่ ๆ ของสหรัฐ รวมทั้งใช้ช่องทางทูตเกษตรในการรายงานสภาพปัญหาและร่วมวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ”

 การหลั่งไหลของสินค้าจีนเข้าไทยมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรหารือร่วมกับผู้ประกอบการนำเข้า ในการเฝ้าระวังและหามาตรการรองรับหากมีการทะลักของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากจีนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับไทย มีระยะทางขนส่งที่ไม่ไกลนัก และมีต้นทุน ที่ถูกกว่าไทย รวมถึงการส่งสินค้ามาผ่านการแปรรูปเพียงเล็กน้อยในไทยเพื่อส่งออก ตลอดจนอาจเกิดการสวมสิทธิ์ เพื่อเลี่ยงว่าเป็นสินค้าจากจีนที่จะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงจากสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ในสินค้าไทย