มาตรการกีดกันการค้าพุ่งเป็นประวัติการณ์WTOห่วงเทรดโลกสะดุด

การค้าโลกเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ความพยายามพยุงเศรษฐกิจให้ยืนอยู่ได้ท่ามกลางภาวะถดถอย กำลังส่งพลังลบต่อการค้า
องค์การการค้าโลก (WTO) มองว่า ข้อตกลงกีดกันทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) เป็นกติกาที่สามารถทำได้แต่ต้องไม่ทำให้การค้าสะดุดและต้องไม่ถูกนำมาใช้แบบผิดวัตถุประสงค์
เมื่อเร็วๆนี้WTO ได้ออกรายงาน 10 key results from 2024 :Technical Barriers to Trade Agreement จัดทำโดย
คณะกรรมการว่าด้วยการกีดกันทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) ของ WTO ที่นำผลการประชุมว่าด้วย ปฏิญญาของรัฐมนตรีเรื่อง
TBT ที่ได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ที่อาบูดาบี เมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา มาสรุปเป็นรายงานฉบับดังกล่าว
“วัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่ากฎระเบียบทางเทคนิค มาตรฐาน และขั้นตอนการประเมิน สอดคล้องและไม่มีการเลือกปฏิบัติและไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้า”
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง TBT อีกด้านหนึ่งก็เป็นสิทธิของสมาชิก WTO ที่จะกำหนดและใช้มาตรการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เชิงนโยบายที่ถูกต้อง เช่น การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ หรือการปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิทธิและวัตถุประสงค์การใช้TBT เป็นไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นสมาชิกต่างก็ร่วมมือกันเพื่อความโปร่งใสการใช้กฎระเบียบ และการลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
“คณะกรรมการยังได้รับรองแนวทาง ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ที่จะให้สมาชิกยึดไปใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในประเด็น TBT รวมถึงขั้นตอนการประเมินความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักด้วย”
ทั้งนี้ สมาชิกยังได้รับรองแผนงาน 3 ปีก่อนหน้า และอีก 3 ปีข้างหน้าที่ครอบคลุมมาตรฐานและกฎระเบียบด้านต่างๆ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน เช่น การอภิปรายเชิงลึกเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ และเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญด้าน เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
นอกจากนี้ ยังมองไปข้างหน้าถึงการพัฒนามาตรฐานและระเบียบข้อบังคับที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับผลประโยชน์สาธารณะ เช่น สุขภาพและการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยการทำให้มาตรฐานและระเบียบข้อบังคับมีความโปร่งใสและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกัน
“ไม่ว่าจะเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด หรือการป้องกันไม่ให้มาตรฐานและระเบียบต่างๆ กลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าที่ไม่จำเป็น คณะกรรมการ TBTจึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านกฎระเบียบระหว่างประเทศและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของหน่วยงานกำกับดูแล เจ้าหน้าที่ด้านการค้า ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานด้านมาตรฐาน เพื่อสร้างมั่นใจต่อห่วงโซ่อุปทานและการสนับสนุนการกำหนดนโยบายการค้าที่เหมาะสม”
โดย สมาชิกตกลงที่จะนำข้อเสนอแนะเฉพาะเจาะจงมากกว่า 40 ข้อไปใช้ รวมถึงการจัดประชุมตามหัวข้อต่างๆทั้ง 23 หัวข้อที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้าที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีเกิดใหม่ มาตรฐานการลดคาร์บอน การผลิตแบบเติมแต่ง มาตรฐานข้อมูลที่ใช้งานร่วมกันได้ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ สมาชิกยังตกลงที่จะดำเนินการเพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการโดยยึดขั้นตอนความโปร่งใส และการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวสามาชิกสามารถนำไปปฎิบัติด้วยความสมัครใจกับสินค้าหรือเงื่อนไขที่ต้องการ เพื่อวัตถุประสงค์ที่WTO อนุญาติให้มีข้อตกลงอุปสรรคทางการค้านี้ หรือ TBT ซึ่งแนวทางปฎิบัติก่อนนำไปใช้ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบทางเทคนิค หรือ มาตฐาน ว่า เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการใช้มาตรการทางการค้านี้หรือไม่
ดังนั้น ก่อนประกาศใช้ต้องตรวจสอบว่ามาตรการนั้นๆจะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้าระหว่างประเทศ แนวทางปฏิบัติที่ WTO นำเสนอผ่านรายงานนี้จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจระหว่างระบบการกำกับดูแล กับ การอำนวยความสะดวก ที่สามารถยอมรับผลที่ออกมาที่สอดคล้องกัน ซึ่งแนวทางการประเมิน เช่น ความเสี่ยง การเฝ้าติดตามตลาด และการใช้มาตรฐานสากล
“สมาชิก WTO ได้ส่งการแจ้งว่ามีการใช้มาตรการทางการค้า มากกว่า 4,300 รายการ ในปี 2024 ซึ่งถือเป็นยอดรวมประจำปีสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1995 ซีึ่งในที่นี้นับรวมการแจ้งเตือนล่วงหน้าว่าจะใช้มาตรการนั้นๆด้วย โดยเหตุผลที่ต้องนำมาตรการทางการค้ามาใช้ส่วนใหญ่เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ หรือ ความปลอดภัย เป็นต้น”
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตุว่า สมาชิก WTO 91 ประเทศ หรือมากกว่าครึ่ง มีการใช้มาตรการทางการค้านี้ อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนถึง 86% มาจากกลุ่มสามาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด
สำหรับอีกข้อกังวลที่มีการหยิบยกขึ้นหารือ คือ เรื่องการจำกัดวงไม่ให้มาตรการทางการค้า กลายเป็นข้อพิพาท กรณีประเทศที่ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการเหล่านั้น ซึ่งแนวทางจากนี้ WTO กำหนดว่านอกจากให้ความรู้ และแนวทางปฎิบัติซึ่งได้ผ่านการหารือและเป็นที่ยอมรับในระหว่างสมาชิกแล้ว การเข้าใจองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการค้าจะเป็นอีกทางแนวที่จะทำให้การปกป้องทางการค้าไม่กลายเป็นอุปสรรคทางการค้าอีกต่อไป