‘ไทย’ ตั้งกลไก 4 ระดับเจรจาสหรัฐ นายกฯ มอบ ’พิชัย’ เชื่อม ‘USTR’

‘ไทย’ ตั้งกลไก 4 ระดับเจรจาสหรัฐ นายกฯ มอบ ’พิชัย’ เชื่อม ‘USTR’

เปิดกลไก 4 ระดับเจรจาการค้าสหรัฐ นายกฯ มอบ “พิชัย นริพทะพันธุ์” ประสานเจรจาประธาน USTR หลังประสานมาตั้งแต่ปลายปีก่อน จนได้รับการตอบรับเจรจา  วางกรอบเจรจาคลุม 5 ด้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวานนี้ (8 เม.ย.68) ที่ประชุมได้รับทราบกลไกองค์ประกอบคณะเจรจากับสหรัฐในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ประกอบไปด้วยคณะทำงาน 4 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1  เป็นคณะเจรจาระดับสูง ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เจรจากับสหรัฐ โดยใน Level นี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจา โดยจะหารือในภาพใหญ่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ

ระดับที่ 2 เป็นคณะเจรจาที่เป็นกลไกสำคัญที่จะหารือ และเจรจากับสหรัฐใน 5 เสาหลักที่เป็นประเด็นที่ไทยจะเจรจาการค้ากับสหรัฐเพื่อปรับสมดุลการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่ประกอบไปด้วยการเพิ่มความร่วมมือสหรัฐไทย ในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจอาหารแปรรูปในตลาดโลก การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ การเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทย การป้องกันการสวมสิทธิ และอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าจากไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ

โดยใน Level นี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ประสานงานกับ นายจามิสัน กรีเออร์  ประธานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อหารือในรายละเอียดต่างๆในเรื่องนี้

“การประสานงานระหว่าง USTR กับประเทศไทย รมว.พาณิชย์ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และขณะนี้ก็ได้การตอบรับจาก USTR มาแล้ว โดยอยู่ระหว่างการนัดหมายเวลาในการหารือกันกับประเทศไทย นายกฯจึงมอบหมายให้ รมว.พาณิชย์ทำงานในการประสานงาน และเจรจาในชั้นนี้ต่อเนื่อง”

ระดับที่ 3 คณะทำงานที่เป็นทีมล่วงหน้า (Forward Team)  มอบหมายให้เอคอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหัวหน้าคณะในการทำงาน และติดตามความเคลื่อนไหวอย่างสถานการณ์นโยบายการค้า แลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าที่ทำงานของ USTR

และระดับที่ 4 คณะทำงาน (Working Group) ที่เป็นส่วนผสมทั้งภาครัฐ และเอกชน ช่วยสนับสนุนข้อมูลเพื่อผลักดันการค้า และเจรจาการค้ากับสหรัฐ

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมฯ วานนี้ว่าความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่ USTR ตอบรับการเข้าพบของไทยซึ่งขณะนี้รอการกำหนดวันอย่างเป็นทางการ

รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้า และบริการของไทย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม พร้อมทั้งเตรียมมาตรการเยียวยาในระดับภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ของสหรัฐ

 

‘ไทย’ ตั้งกลไก 4 ระดับเจรจาสหรัฐ นายกฯ มอบ ’พิชัย’ เชื่อม ‘USTR’

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนหลักการ “รู้เขา” และ “รู้เรา” การดำเนินการของรัฐบาลต้องอาศัยความ “เร็ว” ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับการยืนยันจาก USTR สำหรับการหารือเจรจาแล้ว นอกจากนี้ จะต้อง “แม่นยำ” เพื่อให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง และรอบด้าน ติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมิน และหาข้อสรุปในการเจรจา” นายกรัฐมนตรี กล่าว

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์