'สศค.' ชี้ภาษีทรัมป์กระทบ GDP ไทย เตือนอาจเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค

“สศค.” ชี้ผลกระทบนโยบายภาษีทรัมป์สะเทือนเศรษฐกิจโลก หลังจีดีพีโลกวูบเหลือ 2.8% กระทบส่งออกไทย ระบุเศรษฐกิจไทยเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคได้ เผย 5 แผนเจรจาไทย
KEY
POINTS
- “สศค.” ชี้ผลกระทบนโยบายภาษีทรัมป์สะเทือนเศรษฐกิจโลก หลังจีดีพีโลกวูบเหลือ 2.8%
- ชี้ผลกระทบส่งออกไทย และภาคการผลิตอ
วันนี้ (9 เมษายน 2568) ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ สื่อในเครือเนชั่น ทั้ง ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ และโพสต์ทูเดย์ จัดงานสัมมนาแบบประชุมโต๊ะกลม Roundtable "Trump's Global Quake : Thailand Survival Strategy เรื่องผ่ากำแพงภาษี “ทรัมป์” ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ : Out of The Trump's Uncertainty
ดร.พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า นโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ถือเป็นแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณที่สู้กันระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นมีความเข้มข้นเห็นได้จากการขึ้นภาษีล่าสุดสหรัฐ ขึ้นภาษีจีนไปแล้วรวมกว่า 104% และขึ้นภาษีประเทศอื่นๆ มีผลในวันที่ 9 เม.ย.68 นี้
สิ่งสำคัญก็คือ สหรัฐ พยายามจะดึงการผลิตกลับไปที่สหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดดั้งเดิมของดาวิด ริคาร์โด นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดในการแบ่งงานการผลิตระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ กลับไปผลิตที่สหรัฐมากที่สุด เพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐ ที่ปัจจุบันการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านดอลลาร์ เป็น 3 พันล้านดอลลาร์ และมีหนี้สาธารณะสูงมากประมาณ 36 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 120% ของจีดีพี
“สิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่ในตอนนี้เหมือนกับธานอสในเรื่อง The Avengers ที่ดีดนิ้ว แล้วปรับสมดุลในโลกได้ โดยทรัมป์พยายามทำเพื่อให้การค้าของสหรัฐสมดุลกับประเทศอื่นๆ”
ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับขึ้นภาษีที่สูงมากของสหรัฐ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง โดย สศค.คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2% ลดลงเหลือ 2.8% ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งทำให้ไทยอาจจะมีจีดีพีติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันได้ ซึ่งถือเป็นการที่เศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคที่เป็น Technical Recession ได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเจอผลกระทบมากจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ โดย สศค.มีการแถลงตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2568 ในวันที่ 28 เม.ย.นี้
ทั้งนี้เมื่อดูจากดัชนี Volatility Index (VIX) ที่ใช้แสดงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ปัจจุบันสูงขึ้นมาก จากระดับปกติจะอยู่ที่ไม่เกิน 25 มาอยู่ที่ระดับ 46.98 ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าสูงมากกว่าช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสูงในระดับเดียวกับโควิด-19
ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐเองก็จะได้รับผลกระทบมากเพราะราคาสินค้าที่ขายในสหรัฐได้ก็จะต้องขึ้นราคาให้สูงเดินกว่ากำแพงภาษีทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯสูงมากขณะที่เศรษฐกิจจะชะลอลงอย่างรวดเร็วภาวะแบบนี้ เมื่อสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับพุ่ง เศรษฐกิจสหรัฐฯก็จะเจอกับ “Stagflation” ซึ่งภาวะแบบนี้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) จะตัดสินใจยากมากในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะต้องตัดสินใจกันวันต่อวัน โดยในการประชุมเฟดวันที่ 7 พ.ค.นี้ เฟดอาจจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยได้
สำหรับแนวทาง และการรับมือกับภาษีทรัมป์ของไทยในการประชุมวอร์รูมที่กระทรวงการคลัง ในเรื่องของผลกระทบต่อไทยในทางตรง และทางอ้อม โดยเมื่อเราดูสินค้าใหญ่ๆ ที่เราส่งออกไปสหรัฐ เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ยางรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ หม้อแปลงไฟฟ้า สินค้าทั้ง 5 ตัวเราส่งไปสหรัฐกว่า 40% ขณะที่สินค้าที่สหรัฐยกตัวอย่าง เช่น เรื่องของรถมอเตอร์ไซค์ และเนื้อสัตว์ ก็ต้องกลับมาดูในรายสินค้า และปรับโครงสร้างเกษตรของประเทศที่มีอยู่กว่า 20 ล้านคนแต่สร้างจีดีพีได้แค่ 6%
ผลกระทบของการถูกขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจะทำให้การส่งออกสินค้าเราไปสหรัฐนั้นลดลง ผลที่ตามมาคือ ลดกำลังการผลิตลดลงในประเทศ โดยปัจจุบันกำลังการผลิตนั้นลดลงสวนทางในเรื่องตัวเลขส่งออกที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งการใช้กำลังการผลิตลดลงประมาณ 5% ต่อปี เมื่อภาคการผลิตกระทบก็จะกระทบรายได้ของแรงงานที่จะเกิดผลกระทบ ภาคบริโภคหดตัว กระทบการจัดเก็บรายได้ สิ่งที่มาก็จะกระทบเศรษฐกิจมหภาค และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นในที่สุด
สำหรับแนวทางของประเทศไทยในวอร์รูมเรามีการพูดคุยกันกับวิธีที่สู้แบบจีน เราจะไม่ใช้การสู้แบบนั้น ส่วนจะยอมแบบเวียดนามที่ลดภาษีนี้แบบศูนย์เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นทางเลือกที่เป็นทางออกคือ ร่วมมือกับสหรัฐแบบที่เกาหลีใต้ ที่เราสามารถต่อรอง และเจรจาได้
โดยไทยมีการเจรจาโดยกำหนดยุทธศาสตร์ เป็น 5 เสาหลัก ได้แก่ 1.ลดการเกินดุลการค้าที่สหรัฐขาดดุลการค้าเรามาก ซึ่งอาจให้การนำเข้าเราสูงกว่าการส่งออกของเรา ซึ่งการเกินดุลที่ลดลงภาษีตอบโต้อาจจะลดลงได้ เช่น การนำเข้าเครื่องจักรมากขึ้น การนำเข้าเครื่องบินรีบนำเข้ามากขึ้น
2.ลดภาษีที่เราตั้งไว้แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวโพด ที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ เพราะว่าเราไม่สามารถปลูกข้าวโพดได้เพียงพอ เราอาจจะมีการนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น การลดภาษีบางรายการเช่นมอเตอร์ไซค์จากสหรัฐ
3.ดูการอำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่ภาษี การทบทวนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับสหรัฐ
4.การดูแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งต้องทำใบกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าให้ชัดเจน ว่าไม่ใช่สินค้าที่มาสวมสิทธิในไทย
5.สนับสนุนการลงทุนในสหรัฐ เช่น การสำรวจผลิตก๊าซธรรมชาติ การลงทุนฟาร์มเกษตรในสหรัฐ
“การเจรจาในภาพรวมต้องเป็นการเจรจาในแนวทางที่เป็นรายสินค้า ไม่สามารถเจรจาแบบแยกรายสินค้าได้ เพราะผลกระทบไม่เท่ากัน ต้นทุนไม่เท่ากัน ส่วนการดูแลผลกระทบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ เรื่องของสินค้าเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมคือเรื่องของภาคอุตสาหกรรมร่วมกับหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยวางแผนร่วมกัน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์