'คมนาคม' เข็นงบ 2.4 แสนล้าน เร่งประมูล 5 เมกะโปรเจกต์ปีนี้

'คมนาคม' เข็นงบ 2.4 แสนล้าน เร่งประมูล 5 เมกะโปรเจกต์ปีนี้

ส่องแผน “คมนาคม” เบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 วงเงินรวม 244,576.97 ล้านบาท ปักหมุดเข็นลงทุน 5 โครงการเมกะโปรเจกต์ เปิดประมูลภายในปีนี้ ผุดทางด่วนสายใหม่ และรถไฟฟ้าสายสีแดง

KEY

POINTS

  • ส่องแผน “คมนาคม” เบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 วงเงินรวม 244,576.97 ล้านบาท ตั้งเป้าเปิดประมูล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้
  • ปักหมุดเข็นลงทุน 5 โครงการเมก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบาย เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการขนส่งทางบก ทางราง และการบริหารงบประมาณ เพื่อมุ่งหวังเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยภาพรวมงบประมาณปี 2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 244,576.97 ล้านบาท

ขณะที่ผลการเบิกจ่ายล่าสุดในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เบิกจ่ายสะสมแล้วรวม 39,857.94 ล้านบาท หรือ 16.30% ใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยภายในเดือน ก.พ. 2568 ได้ตั้งเป้าการเบิกจ่ายสะสมที่ 53,018.31 หรือ 21.68% ส่วนผลการเบิกจ่ายด้านการลงทุน ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 อยู่ที่ 28,081.82 ล้านบาท หรือ 13.23% ใกล้เคียงกับแผนที่ตั้งไว้ ส่วนเดือน ก.พ.2568 ตั้งเป้าการเบิกสะสมไว้ที่ 38,391.62 หรือ 21.68%

ในส่วนของผลการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2568 ที่มียอดรวมทั้งสิ้น 89,755.88 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2568 มียอดเบิกจ่ายสะสมรวม 28,429.72 ล้านบาท หรือ 31.67% ดีกว่าแผนที่ตั้งไว้ ที่ 26,671.28 ล้านบาท หรือ 29.72% โดยภายในเดือน ก.พ. 2568 ตั้งเป้าการเบิกสะสมรวม 33,593.29 ล้านบาท หรือ 37.43%

อย่างไรก็ดี ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเร่งการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าเพื่อใช้สำหรับการลงทุนดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงฯ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าติดตามทุกโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบทุกการดำเนินงานในทุกโครงการ เพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดเปิดประมูล เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้มีจำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 134,199 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท

โดยโครงการทางด่วนสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนเกษตร - นวมินทร์ และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยแนวเส้นทางจะเชื่อมกับทางยกระดับ N1 มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ บนตอม่อที่มีอยู่เดิม ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนานิคม แยกฉลองรัช แยกนวมินทร์ ไปสิ้นสุดโดยเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานครด้านตะวันตก และมีทางขึ้นลงจำนวน 5 แห่ง

สถานะปัจจุบัน กทพ.ได้ศึกษารายละเอียด และเตรียมพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้างทันที ดังนั้นคาดว่าหากผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเปิดประกวดราคาในช่วงกลางปี และคาดว่าจะได้ตัวเอกชนในเดือน ต.ค.2568 เพื่อเริ่มก่อสร้างต้นปี 2569 และเปิดให้บริการในปี 2572

2.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท

โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางด่วนภูเก็ต ที่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้ ระยะทาง 30.62 กิโลเมตร โดยขณะนี้จะเร่งดำเนินการส่วนระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ – ป่าตอง เนื่องจากโครงสร้างงานนี้จะเป็นการก่อสร้างงานอุโมงค์ จึงคาดว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีแล้วเสร็จ

สถานะปัจจุบัน กทพ.ได้ศึกษารายละเอียด และเตรียมพื้นที่เพื่อเริ่มงานก่อสร้างทันที ดังนั้นคาดว่าหากผ่านการเห็นชอบจาก ครม.จะเปิดประกวดราคาในช่วงกลางปี และคาดว่าจะได้ตัวเอกชนในเดือน ต.ค.2568 เพื่อเริ่มก่อสร้างต้นปี 2569 และเปิดให้บริการในปี 2572

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 (มอเตอร์เวย์ M5) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต – บางปะอิน มูลค่าลงทุน 31,358 ล้านบาท

โครงการทางด่วนสายนี้จะแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ในแนวทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น อีกทั้งในอนาคตเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งโครงการได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 โดยให้กรมทางหลวง ดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569

4.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน – บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กม.วงเงินลงทุนโครงการ 56,035 ล้านบาท

โครงการทางด่วนเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้ากับพื้นที่ภูมิภาคโดยรอบ รวมถึงเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษ/ทางพิเศษให้สมบูรณ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความคล่องตัว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สิ้นสุดบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง

ปัจจุบันได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2567 เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP NET Cost โดยเอกชนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายลงทุน แต่ได้รับสิทธิจัดเก็บรายได้ และต้องรับความเสี่ยงเรื่องรายได้ ส่วนรัฐได้รับผลตอบแทนบางส่วนตามที่ตกลงกัน คาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนปลายปี 2568 ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างในปี 2569 และเริ่มก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2572

5.โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทาง 20.5 กิโลเมตร วงเงิน 15,176 ล้านบาท

โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย เป็นโครงการตามแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP2) ในกลุ่ม A1 (พร้อมดำเนินการทันที) โดยช่วงศิริราช – ตลิ่งชัน – ศาลายา เป็นส่วนต่อขยายด้านตะวันตกจากสถานีตลิ่งชันไปสิ้นสุดที่สถานีศาลายา และมีแนวเส้นทางเพิ่มเติมเพื่อไปยังสถานีศิริราช ประกอบด้วย 8 สถานี คือ ศิริราช จรัญสนิทวงศ์ ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลิ่งชัน บ้านฉิมพลี กาญจนาภิเษก ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา

ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อประกอบการเสนอขออนุมัติ ครม.