กรมพัฒน์ ชงแก้กม.ฟอกเงินเพิ่มความผิดมูลฐาน ยึดทรัพย์นอมินี

อนุกรรมการนอมินี สั่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แก้ไขเพิ่มเติมกม.ฟอกเงิน เพิ่มความผิดมูลฐาน เอาผิดนอมินี เปิดทางยึดทรัพย์
KEY
POINTS
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอเพิ่มความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และร่วมประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดมูลฐาน ในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปร
คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ที่มีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้เร่งแก้ปัญหา และปราบปรามนอมินี อย่างเข้มงวด โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการกวาดล้างธุรกิจนอมินี 851 ราย มูลค่าความเสียหาย 15,121 ล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งนอกเหนือจากการเข้มงวดตรวจสอบการถือหุ้นและการดำเนินคดีแล้ว คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการการเร่งทบทวนกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงให้ทันสมัย ปิดช่องว่างที่ผู้กระทำผิดนำมาใช้ และช่วยทำให้การจับกุมเข้าถึงตัวผู้กระทำผิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ล่าสุดที่ประชุมได้ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.)พิจารณายกร่างกฎหมายเพิ่มฐานความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยให้สำนักงานปปง.และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการยกร่างกฏหมายดังกล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ เสนอแก้ไขเพิ่มเติม “ความผิดมูลฐาน” และเพิ่มเติมคำนิยาม โดย 1.กำหนดความผิดเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนและร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในธุรกิจที่อยู่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือคนต่างด้าวที่ยอมให้คนไทยกระทำการแทนดังกล่าว ตามมาตรา 36 (ความผิดฐานนอมินี) โดยไม่รับอนุญาตเป็นความผิดมูลฐาน
2.กรณีที่คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 37 เป็นความผิดมูลฐาน ตามร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ...
ทั้งนี้การแก้ไขเพิ่มเติม จะนำไปสู่การยึด อายัดทรัพย์สิน ของผู้กระทำความผิด ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างด้าว ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อไม่ให้นำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ หยุดยั้งการใช้บริษัทนอมินีและคนไทยเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของระบบธุรกิจในประเทศไทย และป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการกระทำความผิด
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขในส่วนอื่นๆของหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม อีก 3 ประเด็น คือ การเพิ่มหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง การแก้ไขเพิ่มเติมขอบเขตอำนาจศาล และเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ
ขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (https://law.go.th) ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 25 เม.ย. 2568 เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับถัดไป
นอกเหนือจากเร่งแก้ไขกฎหมายให้เพิ่มความผิดมูลฐานแล้ว ทางคณะอนุกรรมการยังได้คณะทำงานชุดเฉพาะกิจ 5 ชุด เน้นตรวจสอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยขอให้คณะทำงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับธุรกิจเป้าหมายเป็นประธานคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ