ไทยดึงลงทุนแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ต่อยอด อีวี-ระบบกักเก็บพลังงาน

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ EV พึ่งพาแบตเตอรี่ BOI มุ่งวางรากฐานสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ ภูมิภาค
KEY
POINTS
- BOI ออกสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนแบตเต
แนวโน้มของโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบทั้งภาคยานยนต์และอุตสาหกรรม “แบตเตอรี่” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมแบตเตอรี่กำลังได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพื่อปูทางสู่การเป็นฐานการผลิตและนวัตกรรมพลังงานแห่งภูมิภาคในอนาคต
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เร่งผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทั้งเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ของภูมิภาคที่
บีโอไอหนุนมาตรการดึงลงทุนแบตเตอรี่ความจุสูง
ทั้งนี้ได้มีการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน ทั้งแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery) สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ตามขั้นตอนการผลิต
สำหรับสิทธิประโยชน์การลงทุนได้กำหนดให้สอดคล้องกับระดับของกระบวนการผลิต โดยหากผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี แบบไม่จำกัดวงเงิน
ยกเว้นอากรขาเข้าหนุนตั้งฐานผลิตในไทย
พร้อมทั้งได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก และยังลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศถึง 90% และมีการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีด้วย
กรณีที่ผู้ประกอบการนำเซลล์แบตเตอรี่มาผลิตเป็นโมดูลหรือแบตเตอรี่แพ็ก (Module หรือ Battery Pack) ก็ยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านอากรเช่นเดียวกัน
ขณะที่กรณีที่นำโมดูลมาผลิตเป็นแบตเตอรี่แพ็ก จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเช่นกัน รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ภาษีอากรด้วย
นอกจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานยังมีมาตรการพิเศษเพื่อดึงดูดผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ระดับโลกเข้ามาลงทุน โดยคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมเฉพาะกิจ
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขสำหรับผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับจากค่ายรถยนต์ไฟฟ้า และต้องผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ที่มีค่าพลังงานจำเพาะไม่น้อยกว่า 150 วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลกรัม (Wh/Kg) และมีจำนวนรอบการชาร์จ (Life Cycle) อย่างน้อย 1,000 รอบ อีกทั้งต้องยื่นข้อเสนอโครงการลงทุนภายในปี 2570
ภายใต้มาตรการนี้นักลงทุนจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงิน การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดไม่เกิน 15 ปี การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอีกหลากหลายรายการ
5 ปีส่งเสริมกิจการผลิตแบตเตอรี่ 48 โครงการ
ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่จำนวน 48 โครงการจาก 41 บริษัท รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 27,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตโมดูลและแบตเตอรี่แพ็ก
ซันโวด้า ทุ่ม 5 หมื่นล้านลงทุนในไทย
รวมทั้งเมื่อเดือน มี.ค.2568 มีความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนคือ บริษัท ซันโวด้า ออโตโมทีฟ เอนเนอร์จี เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของซันโวด้า อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในระดับท็อป 10 ของโลก ตัดสินใจลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีนของกลุ่มบริษัทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการที่ออกมานั้นสามารถดึงดูดการลงทุนได้
นอกจากนี้ ซันโวด้า จะมีการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ให้กับบุคลากรไทยกว่า 4,000 คน และจะมีโปรแกรมคัดเลือกนักศึกษาระดับเทคนิคและอาชีวะกว่า 600 คน เข้ารับการฝึกอบรมและมีโอกาสทำงานกับบริษัท
รวมทั้งจะมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและวิจัยในประเทศ เพื่อร่วมทำโครงการวิจัยและพัฒนากับบริษัทไม่น้อยกว่า 9 โครงการ อีกทั้งบริษัทยังมีแผนจะเชื่อมโยงและพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้สามารถเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ระดับโลกของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยตั้งเป้าจะจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปีด้วย
“หัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานอยู่ที่แบตเตอรี่ ดังนั้นการผลิตแบตเตอรี่ ขั้นตอนการผลิตเซลล์ ถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญที่สุดใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีการลงทุนสูง โดยการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ต้นน้ำระดับเซลล์จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของซัพพลายเชน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานและการใช้พลังงานสะอาด” นายนฤตม์ กล่าว
ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยยังเดินหน้าเตรียมมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ (xEV) รวมถึงรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)
หนุนมาตรการส่งเสริมไฮบริด - PHEV
สำหรับการปรับเงื่อนไขอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ PHEV ที่กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างเสนอ ครม.เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขในการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ PHEV ที่จะเริ่มใช้ในปี 2569 เพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน โดยเป็นการยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขขนาดถังน้ำมันไม่เกิน 45 ลิตร สำหรับรถยนต์ PHEV เพื่อลดข้อจำกัด
รวมทั้งเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าให้ได้ระยะทางเพิ่มขึ้น โดยหากวิ่งได้ 80 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการชาร์จ จะได้รับอัตราภาษี 5% ขณะที่หากวิ่งได้น้อยกว่า 80 กิโลเมตร จะเสียภาษีในอัตรา 10%
ส่วนการส่งเสริมแบตเตอรี่สำหรับ PHEV เนื่องจากทั้ง HEV, PHEV และ BEV ใช้แบตเตอรี่ที่มีเทคโนโลยีและขั้นตอนการผลิตไม่แตกต่างกันในสาระสำคัญ
ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันจึงครอบคลุมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ยังไม่มีความจำเป็นในการกำหนดมาตรการเฉพาะ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่ บีโอไอพร้อมพิจารณาปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้ง