สมาคมโคเนื้อ ค้านนำเข้าเครื่องใน เนื้อโคสหรัฐแลกลดภาษี

สมาคมโคเนื้อ ค้านนำเข้าเครื่องใน เนื้อโคสหรัฐแลกลดภาษี

สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโค ร้องกระทรวงเกษตรฯ คัดค้านการนำเข้า โคเนื้อจากสหรัฐ ชี้มีสารเร่งเนื้อแดง ราคาตกผลจากFTAออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่  17 เม.ย. 2568 กลุ่มมวลชนจากสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโคกว่า 60 กลุ่มจากทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อที่จะเข้ายื่นหนังสือต่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อคัดค้านนโยบายการเปิดการการนำเข้าเนื้อโคและเครื่องในโคจากสหรัฐอเมริกา หลังการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

สมาคมโคเนื้อ ค้านนำเข้าเครื่องใน เนื้อโคสหรัฐแลกลดภาษี

นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย สมาชิกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไม่เคยสร้างปัญหาในด้านการส่งออกกับสหรัฐ และที่ต้องคัดค้านการนำเข้าเนื้อโคครั้งนี้ เนื่องจากเนื้อโคจากสหรัฐ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงซึ่งขัดกับกฏหมายของประเทศไทย และจะส่งผลถึงความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศไทย 

อีกทั้งที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงโคยังได้ ช่วยเหลือและอุดหนุนสินค้าเกษตรอื่นๆของไทย มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่รัฐบาลมีแนวทางที่จะเปิดนำเข้าเนื้อโคและเครื่องในโคจากสหรัฐเพื่อต่อรองในมาตรการด้านภาษี ลดการขาดดุลด้านการค้า มองว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกว่า 1.4 ล้าน ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2.8 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาราคาโคตกต่ำจากการแข่งขันในตลาดจากการเปิดการค้าเสรี (FTA) กับประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์อยู่แล้ว สมาคมฯ จึงต้องการให้ยกเลิกการนำเข้าเนื้อและเครื่องในโคจากสหรัฐฯ เพราะจะซ้ำเติมเกษตรกรในการผลิตเนื้อ เกรดพรีเมียม

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า  หนึ่งในแผนที่จะใช้เจรจา เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐ คือการนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในวัวจากสหรัฐ ยืนยันเป็นเพียงแนวคิดในการนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ไม่ได้นำเข้ามาเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน และขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดปริมาณว่าจะเปิดให้มีการนำเข้ามากน้อยแค่ไหน เป็นเพียงข้อเสนอของผู้ผลิตอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการอยู่มาก

สมาคมโคเนื้อ ค้านนำเข้าเครื่องใน เนื้อโคสหรัฐแลกลดภาษี นอกจากนี้ นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทย มีปริมาณการผลิต 21 ล้านตันต่อปี แต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตราว 1.1% ต่อปีเท่านั้น เพราะข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ไม่มากพอ โดยสามารถผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออกได้เพียง 2% จากผลผลิตอาหารสัตว์ทั่วโลก 1,200 ล้านตัน หากรัฐบาลมีแผนการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเครื่องในสัตว์ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ก็จะส่งผลดี อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อการส่งออก มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น

สำหรับการมาของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคครั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันถึงผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับ จากมาตรการนำเข้าเนื้อโคและเครื่องใน ไม่ใช่วัตถุดิบที่น่าจะนำมาผลิตอาหารสัตว์ ขณะที่การเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ทางกลุ่มสมาคมสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงโค จะเข้ายื่นหนังสือต่อ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในวันที่ 22 เมษายน 2568 จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทย เพื่อขอให้ทบทวนมาตรการนำเข้าเนื้อโคดังกล่าวด้วย