ครม. เห็นชอบ ทบทวนมาตรการภาษีรถ Classic Cars หนุนฐานผลิตและบูรณะ

ครม. เห็นชอบทบทวนมาตรการภาษีรถยนต์โบราณ ขยายอายุเกิน 100 ปี หนุนฐานผลิตและบูรณะ หวังเพิ่มรายได้รัฐปีละ 2 พันล้านบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 สำหรับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมรถยนต์โบราณ (Classic Cars) ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่มาตรการย่อยภายใต้มาตรการส่งเสริมงานศิลปะและรถยนต์โบราณ (Classic Cars)
สำหรับการทบทวนมาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ ในครั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบในประเด็นสำคัญตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ดังนี้
1. ขยายคุณสมบัติรถยนต์โบราณ เพิ่มคุณสมบัติให้ครอบคลุมรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 100 ปี
2. ส่งเสริมการผลิตหรือบูรณะในประเทศ เห็นชอบในหลักการของแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตหรือบูรณะ (Restoration) รถยนต์โบราณในประเทศ โดยให้รถยนต์โบราณที่นำเข้ามาเพื่อบูรณะภายในประเทศ และมีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันนำเข้าสำเร็จ มีสิทธิได้รับ คืนภาษีเต็มจำนวน ตามกฎหมาย
3. เห็นชอบร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดด้านภาษีอากร ได้แก่
ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้รถยนต์โบราณเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารไม่เกิน 10 คน ที่มีหลักเกณฑ์ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตรา 45% ของราคาขายปลีกแนะนำ
ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรเเละยกเว้นอัตราอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 เเห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) กำหนดการยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์โบราณสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่นำเข้าตามพิกัดที่กำหนด และเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพสามิต
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเสริมว่า การดำเนินมาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ ครั้งนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงรถยนต์ที่มีอายุเกิน 100 ปี คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เกี่ยวข้องกับการบูรณะรถยนต์โบราณในประเทศให้เกิดการจ้างงาน และพัฒนาความรู้และทักษะของแรงงาน
นอกจากประโยชน์ต่อภาคธุรกิจแล้ว มาตรการนี้ยังคาดว่าจะ เพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล โดยกรมสรรพสามิตประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ การนำเข้ารถยนต์โบราณเข้ามาในประเทศยังส่งผลให้มีการหมุนเวียนของเม็ดเงินในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มเติม
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการภาษีรถยนต์โบราณฯ มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานนอกเหนือจากกระทรวงการคลัง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งทุกหน่วยงานกำลังเร่งยกร่างกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป