บัญชีกลาง แก้กฎ เพิ่ม 6 กรณีห้ามอุทธรณ์จัดซื้อจัดจ้าง ดันเบิกจ่ายคล่อง

กรมบัญชีกลาง แก้กฎกระทรวง คุมอุทธรณ์จัดซื้อจัดจ้าง เพิ่ม 6 กรณีห้ามอุทธรณ์ ลดความล่าช้าดำเนินการ ดันเบิกจ่ายงบประมาณคล่องตัว
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ กฎกระทรวง กำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.2568 อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้า ไม่คล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า หรือในบางกรณีอาจทำให้โครงการต้องถูกพับไปเนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กฎกระทรวงฉบับที่ปรับปรุงนี้ ได้เพิ่มกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอหรือผู้ประกอบการไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐได้ จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 2 กรณี ได้แก่
การไม่อนุญาตให้อุทธรณ์เรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นในวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market)
และกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้เผยแพร่ขอบเขตของงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการแล้ว แต่ผู้ยื่นข้อเสนอรายดังกล่าวไม่ได้แสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์
การปรับปรุงครั้งนี้ได้เพิ่มเติมอีก 6 กรณี ที่ไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ เพื่อลดการประวิงเวลา และเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบด้วย
1. กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง เช่น งานก่อสร้าง แต่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง
2. การจัดซื้อจัดจ้างในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามวิธีคัดเลือก มาตรา 56 (1) (ค)
3. ผู้ยื่นข้อเสนอขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง เช่น ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น
4. ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ได้ยื่นหลักประกันการเสนอราคา หรือยื่นหลักประกันการเสนอราคาแต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
5. ผู้ยื่นข้อเสนอนำผลงานของบุคคลอื่น หรือผลงานที่ได้รับโอนมาจากบุคคลอื่น มายื่นเป็นผลงานของตนเองในการเสนอราคา
6. การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างเดิมไม่ยอมเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือถูกแจ้งเวียนรายชื่อให้เป็นผู้ทิ้งงานเสียก่อนการทำสัญญา
“ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางกรณีมีลักษณะเป็นการประวิงเวลา ก่อให้เกิดความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมาก ส่งผลกระทบให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามกำหนด การปรับปรุงกฎกระทรวงฯ ครั้งนี้ จะช่วยคัดกรองเรื่องที่ไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ออกไปบางส่วน ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่มีการยื่นอุทธรณ์ไว้ก่อนวันที่ 19 เม.ย.2568 และเรื่องดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา กฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์นั้นต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์