'สหรัฐ' เบอร์ 1 ตลาดโซลาร์เซลล์ ไทยส่งออกเฉียดแสนล้านต่อปี

ส.อ.ท. เผยสหรัฐตอบโต้การทุ่มตลาดโซลาร์เซลล์ อาจจะกระทบผู้ผลิตไทยบ้าง แต่ไม่น่ามาก เพราะโรงงานส่วนใหญ่เป็นของจีน แนะรัฐเข้มงวดส่งเสริมต่างชาติตั้งโรงงานในไทย
KEY
POINTS
- สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย พบว่าไทยส่งออกโซลาร์เซลล์ไปสหรัฐเป็นอันดับ 1 โดยปี 2565 มีมูลค่า 46,239,284,805 ล้านบาท, ปี 2566 มูลค่า 111,962,983,770 ล้านบาท, ปี 2567 มูลค่า 85,020,886,329 ล้านบาท ส่วนปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) มูลค่า 7,645,935,190 ล้านบาท
- ภาษีสำหรับมาเลเซียกำหนดไว้ที่ 34.4% บริษัท Trina Solar ในประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 375% และจากเวียดนามมากกว่า 200% ส่วนโมดูล JA Solar จากเวียดนามอาจถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าประมาณ 120%
- สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ ทั้ง ไทย เวียดนาม กัมพูชา และ
จากสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ตามพิกัดศุลกากร พบว่า ประเทศไทยส่งออกโซลาร์เซลล์ไปสหรัฐเป็นอันดับ 1 ถึง 94.69% โดยปี 2565 มีมูลค่า 46,239,284,805 ล้านบาท, ปี 2566 มูลค่า 111,962,983,770 ล้านบาท, ปี 2567 มูลค่า 85,020,886,329 ล้านบาท ส่วนปี 2568 ระหว่างเดือนม.ค.- ก.พ. 2568 มูลค่า 7,645,935,190 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.68 ว่า สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 ประเทศ ซึ่งร่วมกันส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไปยังสหรัฐเป็นส่วนใหญ่
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลจากการสืบสวนการค้าที่กินเวลานาน 1 ปี ซึ่งพบว่าผู้ผลิตอุปกรณ์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนของรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม และกำลังขายสินค้าส่งออกของตนไปยังสหรัฐ ในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การสืบสวนนี้ดำเนินการโดยผู้ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ในประเทศ และเริ่มต้นภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี "โจ ไบเดน"
การขึ้นภาษีใหม่ครั้งนี้เป็นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุนสำหรับสินค้าโซลาร์เซลล์ และแผงโซลาร์เซลล์จาก 4 ประเทศอาเซียน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ระบุว่า อัตราภาษีถูกกำหนดให้สูงถึง 3,521% สำหรับกัมพูชา ซึ่งสะท้อนถึงการตัดสินใจของประเทศที่จะหยุดให้ความร่วมมือกับการสอบสวน
บริษัทที่ไม่ได้ระบุชื่อในเวียดนามต้องเสียภาษีศุลกากรสูงถึง 395.9% โดยไทยกำหนดไว้ที่ 375.2% ส่วนภาษีสำหรับมาเลเซียกำหนดไว้ที่ 34.4% บริษัท Jinko Solar ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเวียดนามประมาณ 245% และจากมาเลเซีย 40% บริษัท Trina Solar ในประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 375% และจากเวียดนาม มากกว่า 200% ส่วนโมดูล JA Solar จากเวียดนามอาจถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าประมาณ 120%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐได้เลื่อนเจรจาในหลายประเทศ ภายหลังจากผู้แทนญี่ปุ่นเข้าพบ เพราะมีคำถามว่า จะเสนออะไรให้ และทีมญี่ปุ่นได้เขียนข้อความผ่านสื่อออนไลน์ว่า ไม่เข้าใจว่าสหรัฐต้องการอะไร ดังนั้น จึงทบทวนก่อน 90 วัน สหรัฐจึงเปลี่ยนแผนเป็นขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า เช่น โซลาร์เซลล์ในอัตราที่สูง
ทั้งนี้ ล่าสุด สหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ ทั้ง ไทย เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย โดยกัมพูชาหนักสุด 3,521% ที่ต้องการจะเล่นงานจีนสูงสุด เพราะจีนมีฐานการผลิตในหลายบริษัท และหลายประเทศ เป็นรายสินค้าแทน อีกทั้ง ทางทีมงานประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ออกมาบอกว่ารอโทรศัพท์จากผู้นำของจีนอยู่เช่นกัน
ด้านนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเจรจาที่ผู้นำประเทศไทยไม่สามารถไปเจรจากับสหรัฐให้เป็นไปตามแผนเดิมนั้น ในมุมเอกชนมองอีกมุม คือ ปัญหาของไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญของสหรัฐ หากไทยได้รับคิวแรกที่เจรจา ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐที่ต้องเร่งหารือ ซึ่งไทยยังมีเวลา เพราะยังมีอินโนเวชั่นที่ไทยยังมีซัพพลายที่ต้องเจรจาเพิ่มเติม ทำให้เราอาจมีโอกาสเจรจามากขึ้น
ส่วนกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะกังวลในเรื่องของการเจรจาภาษีสหรัฐหรือไม่นั้น นายอภิชิต กล่าวว่า ในส่วนภาคการเมืองกับราชการที่มีหน้าที่เจรจาอยู่แล้ว จึงต้องแยกส่วนกัน ซึ่งการเมืองอาจจะกระทบบ้าง วันนี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับการปรับภาษีนำเข้าศุลกากรที่ประเทศไทยจะโดนขึ้นที่ 36% ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ และเมื่อเทียบในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศที่ผลิตสินค้าเดียวกัน อย่างเวียดนามที่โดนถึง 46% ไทยก็อาจจะมีแต้มต่อ ดังนั้น ในช่วงฝุ่นตลบก็ต้องรอดูก่อน
“เรายังไม่ได้มองถึงขนาดที่ไม่สามารถหารือกันได้ ไม่ได้มองถึงขั้นนั้น เพราะทีมเจรจาหลักทั้ง 2 ท่าน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความเข้มแข็ง และพยายามทำแผนเจรจาไว้เป็นอย่างดีแล้ว” นายอภิชิต กล่าว
ส่วนกรณีที่สหรัฐปรับภาษีโซลาร์เซลล์เพื่อต่อต้านการใช้เป็นฐานการผลิต ซึ่งประเทศไทยก็โดนด้วยนั้น ถือว่ากระทบแน่นอนเพื่อขึ้นเยอะมาก ซึ่งจริงๆ แล้วโรงงานผู้ผลิตเป็นของไทยส่วนใหญ่เป็นโรงงานจีนที่มาผลิตในไทยแทบจะ 100% ที่ย้ายฐานการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้กำลังดูว่ามีบริษัทที่เป็นของไทยมีกี่บริษัท และต้องดูเพิ่มว่าในแต่ละบริษัทมีส่งออกไปสหรัฐมากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ดู บริษัทโดยคนไทยกำลังการผลิตเองก็ไม่เพียงพอต่อการส่งออกแล้ว
“สหรัฐรู้ว่าแผงโซลาร์ผลิตโดยจีนเป็นหลัก อาจเป็นประเด็นกัน โดยรอบ ทรัมป์ 1.0 โฟกัสที่จีน รอบนี้มุ่งเน้นทั้งจีน และประเทศพันธมิตรกับจีน ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนของไทยควรจะส่งเสริมลักษณะสินค้าที่ไทยไม่สามารถผลิตได้จะได้ประโยชน์ด้านทรานฟอร์ม ความรู้แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมเหล็กเส้น ซึ่งเรามีโรงงานอยู่แล้ว ทำให้มาแย่งตลาด อีกทั้งวัตถุดิบก็ไม่ได้ใช้ในประเทศไทย จึงต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้ และคำนึงผู้ประกอบการไทยเป็นหลักด้วย”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์