จีดีพีเกษตร ผวาภาษีทรัมป์กดขีดแข่งขัน แนะแลกนำเข้าธัญพืชจาก

สศก. เผย จีดีพีเกษตรไตรมาสแรก ปี68 โต 3 % หวั่นภาษีทรัมป์ เก็บเต็ม กดการแข่งขันทางการค้ากระทบราคาที่เกษตกรได้รับ ยังคาดทั้งปีจีดีพี ขยาย 1.8-2.8 %
KEY
POINTS
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร หรือจีดีพีเกษตร ในไตรมาส 1 ปี 2568 (มกราคม - มีนาคม 2568) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.0
- แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2567
- นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษี 10 % ซึ่งในภาพรวมคาดว่าจะไม่กระทบกับจีดีพีเกษตร
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพีเกษตร) ว่า ทั้งปี2568 จีดีพีภาคการเกษตรคาดว่าจะขยายตัว 1.8 ถึง 2.8% ซึ่งเป็นคาดการณ์ก่อนที่นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐจะประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสหรัฐประกาศขึ้นภาษีกับไทยในอัตรา 10% ซึ่งในภาพรวมแล้วจะไม่กระทบกับจีดีพีเกษตร เพราะราคาปรับไม่มาก ยังอยู่ในภาวะที่ยังแข่งขันได้ เช่น กรณีข้าว คู่แข่งสำคัญ คือเวียดนาม แต่ข้าวก็อยู่กันคนละตลาด และจากคุณภาพข้าวของไทย ที่ดีกว่า น่าจะเป็นที่เลือกซื้อของกลุ่มผู้บริโภค
นอกจากนี้ ไทยยังมีสินค้าที่ต้องการนำเข้าจากสหรัฐอีกจำนวนมาก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ธัญพืช อื่นๆ ทั้งหมดนี้ ได้จัดทำท่าที ให้กับทีมเจรจา โดยยึดผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง
แต่ทั้งนี้กรณีที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษี 36% ก็จะมีผลกระทบต่อการแข่งขันการส่งออกและขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าเกษตรของไทย และอาจจะสะท้อนมายังราคาที่เกษตรได้รับแต่ในภาพรวมจีดีพีเกษตร ซึ่งประกอบด้วยผลผลิต พื้นที่ผลิต ราคาที่ได้รับ ดังนั้น อาจส่งผลกระทบต่อจีดีพีเกษตรบ้าง ซึ่งคาดเดาขณะนี้ยังไม่ได้เพราะ สหรัฐ ยังไม่แน่นอน ซึ่งหากไทยนำเข้า ถั่วเหลืองและข้าวโพดตามข้อตกลง ก็จะลดผลกระทบลงได้บ้าง
แนวโน้มเติบโตหากไร้ปัจจัยภาษีทรัมป์
ทั้งนี้ สศก. ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง1.8 – 2.8 %เมื่อเทียบกับปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ประกอบกับการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ และราคาปัจจัยการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
รวมถึงปัจจัยภายนอก อย่างเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัว มาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่อาจส่งผลต่อโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรทั้งในระยะเร่งด่วน อาทิ เตรียมพร้อมรับมือต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การรับมือและเฝ้าระวังกับสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา การแก้ปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง การลดต้นทุนการผลิต การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เร่งพัฒนาภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง
การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในระยะต่อเนื่อง อาทิ การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรสามารถมีที่ดินทำกินของตนเอง การพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตร การส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การสงเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย และต่อยอดสู่เกษตรมูลค่าสูง การส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาด ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนา Soft Power จากภาคเกษตร
สำหรับ จีดีพีเกษตร ในไตรมาส 1 ปี 2568 (ม.ค. - มี.ค. 2568) พบว่า ขยายตัว3.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเข้าสู่สภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนก.ย. 2567 ทำให้มีฝนตกมากขึ้นต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2568 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากกว่าปีที่ผ่านมา และสภาพอากาศโดยทั่วไปเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกพืช ในพื้นที่ที่เคยปล่อยว่าง ประกอบกับมีการบริหารจัดการฟาร์มและดูแลเฝ้าระวังโรคในสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ทุกสาขาการผลิตขยายตัว ทั้งสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และ สาขาป่าไม้
ข้าว-ยาง-อ้อยผลผลิตเพิ่ม
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายสาขา มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้ สาขาพืช ขยายตัว 4.2% สินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่าง ประกอบกับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ข้าวนาปรัง เนื่องจากเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกมากขึ้นในช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2568 ส่งผลให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก และเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาปรังที่เคยปล่อยว่าง
อ้อยโรงงาน เนื่องจากในช่วงปลายปี 2567 มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคาอ้อยโรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี
ยางพารา เนื่องจากต้นยางพาราที่สามารถกรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ปัญหาโรคใบร่วงลดลง และราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาและมีการกรีดยางเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรบางรายปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวเพิ่มขึ้น จากราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง
มันสำปะหลัง เนื่องจากพื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่เพาะปลูกหลักทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับการขาดแคลนท่อนพันธุ์คุณภาพดี ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
อากาศไม่เอื้อทำทุเรียน เงาะผลผลิตลด
ทุเรียน และ เงาะ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงที่มีการออกดอก ทำให้ผลผลิตทุเรียนและเงาะนอกฤดูทางภาคใต้ที่ออกในช่วงไตรมาส 1 ลดลง และ มังคุด ผลผลิตลดลง เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลในแหล่งผลิตสำคัญทางภาคตะวันออกและภาคใต้ลดลง จากการที่เกษตรกรโค่นต้นมังคุดไปปลูกต้นทุเรียนแทน ส่งผลให้ผลผลิตมังคุดนอกฤดูน้อยลง
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว0.1% เนื่องจากสุกรซึ่งเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญชนิดอื่นๆ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ส่วนสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศเย็นและไม่ร้อนจัด ทำให้แม่ไก่ไข่มีการให้ไข่ได้ดี อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ได้ขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ น้ำนมดิบ เนื่องจากเกษตรกรมีศักยภาพในการเลี้ยงโคนมมากขึ้น มีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น
ส่วนสุกร ผลผลิตลดลง เนื่องจากมีการปรับลดกำลังการผลิต เพื่อควบคุมปริมาณสุกรให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ซึ่งในขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงมีความเข้มงวดในการเลี้ยงและเฝ้าระวังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร