ไทยเร่งส่งออก หนีภาษีทรัมป์ ดันยอดเดือนมี.ค โต 17.8 % สูงสุดในรอบ 36  เดือน 

ไทยเร่งส่งออก หนีภาษีทรัมป์ ดันยอดเดือนมี.ค โต 17.8 % สูงสุดในรอบ 36  เดือน 

พาณิชย์ เผยส่งออกมูลค่า 29,584 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์  ขยายตัว 17.8%  สูงสุดในรอบ 36 เดือน ขณะที่ "พิชัย" ระบุไตรมาส 3 ต้องนั่งไทม์แมชชีนถึงจะได้คำตอบขยายตัวเท่าไร แต่ยังมั่นใจมีสัญญาณ 5G อยู่ พาณิชย์ยังคงเป้าขยายตัวทั้งปี 2-3 %

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนมี.ค.68 มีมูลค่า 29,584 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์  ขยายตัว 17.8%  ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่  9 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 28,575 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยกลับมาเกินดุลการค้า อยู่ที่ 973 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกในเดือนมี.ค. ได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป  ประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการเร่งตัวด้านการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนไตรมาสแรกของปี 2568 (ม.ค. - มี.ค.) การส่งออกขยายตัว 15.2% รวมมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์ โดยในแต่ละเดือนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ม.ค. 13.6%, ก.พ. 14% และมี.ค. 17.8% ส่งผลให้ไทยมี ดุลการค้าเกินดุล 1,081 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

ไทยเร่งส่งออก หนีภาษีทรัมป์ ดันยอดเดือนมี.ค โต 17.8 % สูงสุดในรอบ 36  เดือน 

 

ทั้งนี้การเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตลาดสหรัฐเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมตลาดอื่นๆ ด้วย แม้ในเดือนถัดไปอาจมีผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐ แต่เชื่อมั่นว่ายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน โดยขอเชิญสื่อมวลชน และภาคเอกชนร่วมรับฟังสัมมนา “ถอดรหัสนโยบายภาษีทรัมป์ โอกาสสู่การค้ายุคใหม่” ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 25 เม.ย. ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่(NEA) ถนนรัชดาภิเษก เพื่อวิเคราะห์โอกาสของไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้าของสหรัฐ โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และจีน ที่อาจเป็นโอกาสให้สินค้าของไทยเข้าไปแทนที่สินค้าในตลาดโลก

“อย่าคิดว่าเป็นวิกฤติอย่างเดียว ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง และเรายังเดินหน้าต่อไปได้  ยืนยันว่า การส่งออกยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อว่าในเดือนเม.ย.การส่งออกของไทยก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว และการลงทุนยังไหลมา  ในส่วนของการเจรจากับสหรัฐนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประสานงานกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ( USTR ) ซึ่งการขึ้นภาษีของทรัมป์เป็นวิกฤติ และโอกาสของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่จะเข้าไปทดแทนในสหรัฐ เช่น ถุงมือยาง  เป็นต้น” นายพิชัย กล่าว

เมื่อถามว่า ประเมินการส่งออกในไตรมาส 2 ยังเติบโตหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ถ้าอยากรู้คงต้องใช้ไทม์แมชชีนไปดู แต่สัญญาณยังเป็น 5G

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. ขยายตัว 17.8%  ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับจากเดือนเม.ย. 65 ซึ่งคาดว่าในไตรมาส  2  ยังคงขยายตัว แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะขยายตัวด้วยตัวเลข 2 ตัวหรือไม่  ส่วนไตรมาส 2 ไตรมาส 3 คงต้องดูผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าการส่งออกทั้งปีไว้ที่ 2-3%

สำหรับการส่งออกในเดือนมี.ค. ขยายตัว 17.8%  มาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 23.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว 31.2%  หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 19.4%

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.1%  กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตร หดตัว 0.5%  หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 5.7%  กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และผลไม้กระป๋อง และแปรรูป

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป น้ำตาลทราย และไขมัน และน้ำมันจากพืช และสัตว์ ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.2%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว จากการเร่งนำเข้าของประเทศต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการประกาศภาษีของสหรัฐ ที่จะมีผลเดือนเม.ย. โดยการส่งออกไปสหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นจากความต้องการนำเข้า เพื่อลดต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้า ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีน เร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ  โดยตลาดหลัก ขยายตัว 17.3%  ซึ่งตลาดสหรัฐ 34.3%  จีน  22.2%  ญี่ปุ่น 1.5% สหภาพยุโรป (27) 4.0%  อาเซียน (5)  13.2% และ CLMV   10.1%

ตลาดรอง ขยายตัว 10.2%  เช่น  ตลาดเอเชียใต้ 9.2%  ตะวันออกกลาง 25.1%   แอฟริกา  3.5%   ลาตินอเมริกา 11.5%   รัสเซีย และกลุ่ม CIS  59.5% และสหราชอาณาจักร 7.7% แต่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย  11.4%  และตลาดอื่นๆ ขยายตัว 232.6%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐ ต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้า และการลงทุน อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้

โดยเตรียมความพร้อมด้านการเจรจาการค้ากับสหรัฐ เพื่อลดทอนผลกระทบทางภาษี แสวงหาโอกาสจากวิกฤติ โดยการผลักดันสินค้าศักยภาพเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐ และสร้างความร่วมมือทางการค้าเพื่อกระจายตลาดให้มากขึ้น พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน และผู้ส่งออกไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ พัฒนามาตรการเยียวยา และกำหนดแนวทางการรับมือกับสภาวะการค้าที่ทวีความซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์