ส่งออกไทยระทึกเสี่ยงหดตัวแรง ไตรมาส 1 โตชั่วคราว สรท.ชี้ครึ่งปีหลังออร์เดอร์ดิ่ง

ส่งออกไทยระทึกเสี่ยงหดตัวแรง ไตรมาส 1 โตชั่วคราว สรท.ชี้ครึ่งปีหลังออร์เดอร์ดิ่ง

“ส่งออก” มี.ค.พุ่ง 17.8% สูงสุดรอบ 36 เดือน ตลาดสหรัฐโตแรง 34.3% รวมไตรมาสแรกขยายตัว 15.2% สรท.มองครึ่งปีหลังคำสั่งซื้อลดฮวบ เผยภาษีทรัมป์กระทบหยุดรับคำสั่งซื้อจากคู่ค้าสหรัฐ เหตุกำไรไม่พอกับรายจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้น บางรายเตรียมหาตลาดใหม่  “กรุงไทย” คาดส่งออกไตรมาส 3 หดตัวแรง ระบุไตรมาสแรกโตชั่วคราว

KEY

POINTS

Key Point

  • การส่งออกไทยเดือนมี.ค.2568 มูลค่า 29,584 ล้านดอลลาร์สูงสุดสุดเป็นประวัติศาสตร์ ขยายตัว 17.8%
  • ส่วนไตรมาสแรก 1 ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัว 15.2% รวมมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์
  • ส่

การส่งออกไทยเดือน มี.ค.2568 มูลค่า 29,584 ล้านดอลลาร์สูงสุดสุดเป็นประวัติศาสตร์ ขยายตัว 17.8% ขยายตัวตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28,575 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.2% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยกลับมาเกินดุลการค้า 973 ล้านดอลลาร์

ส่วนไตรมาสแรก 1 ปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) ขยายตัว 15.2% รวมมูลค่า 81,532.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแต่ละเดือนมีการเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยมี ดุลการค้าเกินดุล 1,081 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน มี.ค.2568 ได้รับแรงหนุนหลักจากสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างสหรัฐ จีน สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประเทศคู่ค้าเหล่านี้ตัวการผลิตสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่สูงขึ้นท่ามกลางความพยายามรับมือความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ 

ทั้งนี้ ส่งผลให้เร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรักษาเสถียรภาพห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิต และบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการเติบโตไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในตลาดสหรัฐ แต่ยังครอบคลุมตลาดอื่นแม้เดือนถัดไปอาจมีผลกระทบจากนโยบายภาษีสหรัฐแต่เชื่อว่ายังเป็นบวกได้ 

“อย่าคิดว่าเป็นวิกฤตอย่างเดียว ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง และเรายังเดินหน้าต่อไปได้ ยืนยันว่า การส่งออกยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชื่อว่าในเดือนเม.ย.การส่งออกของไทยก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวและการลงทุนยังไหลมา "

ส่งออกไทยระทึกเสี่ยงหดตัวแรง ไตรมาส 1 โตชั่วคราว สรท.ชี้ครึ่งปีหลังออร์เดอร์ดิ่ง

 

ส่วนการเจรจากับสหรัฐอยู่ระหว่างประสานงานกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ถือว่ามีสัญญาณดีในการที่ไทยจะเจรจา และมีโอกาสหารือในเดือน พ.ค.นี้ โดยรัฐบาลจะพิจารณาข้อมูลรอบด้านและขอมั่นใจว่าจะให้ไทยได้รับผลกระทบน้อยสุด และได้ผลประโยชน์มากสุด ซึ่งการขึ้นภาษีของทรัมป์เป็นวิกฤติและโอกาสของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่จะเข้าไปทดแทนในสหรัฐ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น 

ส่งออกไตรมาส 3 ลุ้นผลเจรจาสหรัฐ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน มี.ค.ขยายตัว 17.8 % สูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจากเดือน เม.ย.2565 ซึ่งคาดว่าไตรมาส 2 ยังขยายตัวแต่จะขยายตัว 2 หลังหรือไม่ ส่วนไตรมาส 3 ต้องดูผลการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คงเป้าการส่งออกทั้งปี 2-3% 

สำหรับการส่งออกเดือน มี.ค.2568 ขยายตัว 17.8 % มาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 23.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน โดยสินค้าสำคัญขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัว 31.2 % หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ

สินค้าอุตฯเกษตรหดตัวในรอบ 9 เดือน

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.1% กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าเกษตรหดตัว 0.5% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 5.7% กลับมาหดตัวในรอบ 9 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปน้ำตาลทราย และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ทั้งนี้ 3 เดือนแรกของปี 2568 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 0.2%

ตลาดส่งออกสหรัฐโตแรง34.3%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวจากการเร่งนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการประกาศภาษีของสหรัฐที่จะมีผลเดือน เม.ย.2568 โดยการส่งออกไปสหรัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากความต้องการนำเข้า เพื่อลดต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีนำเข้า ขณะที่ประเทศอื่นโดยเฉพาะจีนเร่งนำเข้าสินค้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐ

ส่วนตลาดหลัก ขยายตัว 17.3 % เช่น ตลาดสหรัฐ 34.3% , จีน 22.2% , ญี่ปุ่น 1.5% , สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 4.0% , อาเซียน (5 ประเทศ) 13.2% และ CLMV 10.1% 

ตลาดรอง ขยายตัว 10.2% เช่น ตลาดเอเชียใต้ 9.2% , ตะวันออกกลาง 25.1% , แอฟริกา 3.5% , ลาตินอเมริกา 11.5% รัสเซียและกลุ่ม CIS 59.5% และสหราชอาณาจักร 7.7% แต่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 11.4%

คาดส่งออกทั้งปี 68 เผชิญความท้าทาย

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2568 ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากการใช้มาตรการปรับขึ้นภาษีอย่างถ้วนหน้าของสหรัฐ รวมทั้งการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของนานาประเทศ สร้างความวิตกกังวลต่อภาพรวมการค้าโลก อันอาจนำไปสู่การชะลอตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อรับมือกับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงนี้ โดยเตรียมความพร้อมการเจรจากับสหรัฐ เพื่อลดทอนผลกระทบทางภาษี และหาโอกาสจากวิกฤติโดยการผลักดันสินค้าศักยภาพเข้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐ รวมทั้งสร้างความร่วมมือทางการค้าเพื่อกระจายตลาดมากขึ้น

ส่งออกไทยระทึกเสี่ยงหดตัวแรง ไตรมาส 1 โตชั่วคราว สรท.ชี้ครึ่งปีหลังออร์เดอร์ดิ่ง

ภาษีกระทบ“เร่งส่งมอบ-ยกเลิกออร์เดอร์

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.สำรวจความเห็นผู้ส่งออกสมาชิก  สรท.และหารือร่วมกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก เกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐ ระหว่างวันที่ 9-22 เม.ย.2568 

ขณะนี้ผู้ส่งออกบางกลุ่มยังไม่ได้รับผลกระทบ, บางกลุ่มได้รับผลกระทบทางบวก อาทิ คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ถูกเร่งส่งมอบสินค้าเร็วขึ้น และบางกลุ่มได้รับผลกระทบทางลบ เช่น คำสั่งซื้อสินค้าลดลง ยกเลิกคำสั่งซื้อ และลูกค้าผลักภาระต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ส่งออก 

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกรับมือด้วยการเจรจาลูกค้าเพื่อแบ่งความรับผิดชอบต่อภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ทั้งการลดราคาสินค้ากรณีลูกค้าเป็นผู้ชำระค่าภาษี และการขอขึ้นราคาสินค้ากรณีผู้ส่งออกไทยเป็นผู้ชำระภาษี, การชะลอรับคำสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ เพราะกำไรไม่พอต่อการจ่ายหรือการช่วยจ่ายภาษีให้กับลูกค้า, การหาตลาดอื่นทดแทน

นอกจากนี้ สอบถามแนวทางเจรจาของไทยกับสหรัฐ ซึ่งจะให้ไทยไปลงทุนสหรัฐเพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการหรือนำเข้าสินค้าบางรายการที่ไม่เคยนำเข้า โดยผู้ส่งออก 88.9% ระบุว่าไม่ลงทุนและไม่มีแผนลงทุนสหรัฐเพราะต้นทุนจะสูงขึ้นมาก 

รวมทั้ง 11.1% ระบุว่ามีบริษัทแม่หรือบริษัทในเครือตั้งอยู่ในสหรัฐแล้ว ขณะที่มีเพียง 31.6% ที่นำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐอยู่แล้ว เช่น ถั่วเหลือง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก วัตถุดิบอาหารสัตว์ ส่วนที่เหลือนำเข้าจากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่าและใช้วัตถุดิบในประเทศ

สรท.มองครึ่งปีหลังคำสั่งซื้อลดฮวบ

รวมทั้งดำเนินการมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและการเข้ามาลงทุนผลิตในประเทศ ประกอบด้วย การออกมาตรการต้านการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพ โดยกำกับดูแลตั้งแต่ในประเทศต้นทาง เช่น สินค้าและโรงงานต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของไทย 

นอกจากนี้ผู้ส่งออกที่ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องระบุ ID Number ให้ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อน ตรวจสอบสินค้านำเข้า 100% เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้าประเทศ ตรวจสอบสินค้าผ่าน Free zone 100% เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออก

มาตรการต้านการลงทุนศูนย์เหรียญ เช่น ทบทวนสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับการลงทุนใหม่, ให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศไม่น้อยกว่า 40% เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศ 

รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ โดยต้องอัดฉีดงบประมาณสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และงบสนับสนุนด้านการตลาดแก่ภาคเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยในสายตาคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลก

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท.กล่าวว่า  สรท.คาดว่า ในไตรมาส 2 ตัวเลขส่งออกน่ายังดีแต่ในครึ่งปีหลังคำสั่งซื้อจะลดฮวบเพราะผู้นำเข้าได้เก็บสต๊อกไว้แล้วจำนวนมาก อย่างไก็ตามขณะนี้สรท.ยังไม่ปรับเป้าส่งออก

แนะไทยเจรจาแยกมูลค่าส่งออกสินค้า-คู่ค้า

นายธนากร กล่าวว่า สรท.ประเมินว่าสหรัฐอเมริกาจะเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และในท้ายที่สุดอาจมีการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ในอัตรา 10% ซึ่งไทยควรจะเจรจาโดยแยกมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ผลิตภายใต้การลงทุนของสหรัฐ และเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุนที่ไทยต้องการจากสหรัฐ รัฐและเอกชนควรเร่งวางกลยุทธ์รายกลุ่มสินค้าและคู่ค้า 

ทั้งนี้ไทยต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพการค้าและการลงทุนที่ได้รับผลจากนโยบายภาษีนำเข้า และเน้นการกระจายความเสี่ยงและสร้างโอกาสในกรอบความร่วมมือ เช่น อาเซียน-สหรัฐ , อาเซียน-ยุโรป , อาเซียน-จีน , อาเซียน-ญี่ปุ่น , อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-อินเดีย

รวมทั้งเร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรับมือรูปแบบการค้าใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีองค์ประกอบหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

“กรุงไทย”คาดไตรมาส3หดตัวแรง

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค.ออกมาสูงสุดประวัติการณ์ สะท้อนการเร่งส่งออก จากการเร่งสั่งออเดอร์มากขึ้น จากความกังวลนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีทรัมป์ ส่งผลให้มีการเร่งสั่งสินค้าล่วงหน้า ทำให้การตัวเลขส่งออกเดือน มี.ค.เร่งตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ จากกรณีที่ทรัมป์ มีการชะลอการเก็บภาษีนำเข้ากับทุกประเทศเป็น 90 วันนับตั้งแต่ เม.ย.เป็นต้นไป มองว่าจะมีส่วนหนุนใหม่การส่งออกกลับมาเร่งขึ้นอีกครั้งในช่วง เม.ย.จนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ดังนั้นมีโอกาสที่ส่งออกของไทยอาจขยายตัวสูงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขส่งออกในช่วง มี.ค.และไตรมาส 3 ที่คาดจะเติบโตต่อเนื่องเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว จากการสั่งสินค้าล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบทรัมป์เท่านั้น แต่หลังจากไตรมาส 3 เป็นต้นไป ส่งออกอาจกลับมาหดตัวแรงได้ จากการเร่งสั่งออเดอร์ 

ดังนั้นแม้จะมีข่าวดีในระยะสั้นๆแต่ระยะกลางและยาวส่งออกไทยน่าห่วงมากขึ้น มีโอกาสที่ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ค่อนข้างมาก ที่อาจกระทบทำให้เห็นตัวเลขส่งออกติดลบได้ในระยะข้างหน้า

“วันนี้เรามีเครื่องยนต์เหลือตัวเดียวคือท่องเที่ยว จากที่คิดมาตลอดว่าเราเป็นเครื่องบินสองใบพัด เพราะเครื่องจักรอื่นๆอาจไม่ได้ดีเหมือนที่คิดไว้ ทั้งส่งออกที่คิดว่าปีนี้จะกลับมาบวกได้ แม้จะมีการเร่งส่งออกก่อนที่นโยบายทรัมป์จะมีผลแต่หลังจากนี้ส่งออกมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นมีโอกาสสูงที่จะเห็นตัวเลขส่งออกติดลบปีนี้ จากที่คิดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้”