ธุรกิจตั้งใหม่“เขตเศรษฐกิจภาคใต้:SEC” ไตรมาส1เพิ่มพันราย

ธุรกิจตั้งใหม่“เขตเศรษฐกิจภาคใต้:SEC” ไตรมาส1เพิ่มพันราย

ความสับสน วุ่นวายทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของโลก กำลังเร่งผลักดันให้พื้นที่เกิดใหม่ทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้น

เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ( Southern Economic Corridor : SEC)   ประกอบด้วย จังหวัด ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่สำคัญที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของภาคธุรกิจโดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล (ธุรกิจ) ในพื้นที่SEC ช่วง ม.ค. - มี.ค. 2568 จำนวนทั้งสิ้น 1,180 ราย แม้จะมีสัดส่วนลดลงเมื่อเท่ียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 1,334 ราย หรือ ลดลง 11.54% แต่ในด้านทุนจดทะเบียน พบว่า มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย ปี 2568 มีมูลค่า 3,969 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 18.26%  สำหรับธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุดได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ รองลงมาคือ กิจกรรมบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 

ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีการจดทะเบียนตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 909ราย รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช จำนวน 171 ราย ชุมพร 69 ราย และ ระนอง 31 ราย 

โดยนิติบุคคลคงอยู่ในพื้นที่ SEC จำนวน 34,856 ราย มีทุนจดทะเบียน 181,050 ล้านบาท แบ่งเป็น จัดหวัด ชุมพรทุนจดทะเบียน 16,352 ล้านบาท นครศรีธรรมราช 33,173 ล้านบาท ระนอง  11,556 ล้านบาท และ สุราษฎร์ธานี 119,969 ล้านบาท 

ในส่วนของการลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทย มีมูลค่า  22,016 ล้านบาท คิดเป็น 12.17% ของมูลค่าทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการถือหุ้นของชาวต่างชาติในนิติบุคคลที่จัดตั้งในไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ฝรั่งเศส มูลค่า 2,994 ล้านบาท สัดส่วน 13.60% จีน  มูลค่า 2,196 ล้านบาท สัดส่วน 9.98% อังกฤษ มูลค่า 2,018 ล้านบาท สัดส่วน 9.17% รัสเซีย มูลค่า 1,934 ล้านบาท สัส่วน 8.79 % อิสราเอล 1,675 ล้านบาท สัดส่วน 7.61%  และอื่นๆ 11,195 ล้านบาท สัดส่วน 50.85% 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) โดยระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะขับเคลื่อนได้จำเป็นต้องมีกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลอยู่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ….. (พรบ. SEC) สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมซึ่งได้รับมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการจัดทำ พรบ.SEC คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและร่าง พรบ.SEC ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอไปยัง ครม.พิจารณาภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังจะเริ่มเปิดประชุมสามัญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ และคาดว่ากระบวนการพิจารณาเหล่านี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ผลักดันให้สามารถเริ่มกระบวนการประกวดราคา โดยร่างเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) ในเดือน ธ.ค.2568

“เนื่องด้วย พรบ.SEC เป็นเรื่องของกฎหมายใหม่ จึงคาดว่าจะไม่ได้มีการแตกประเด็นที่กว้างมาก และอาจไม่ได้ใช้เวลาในกระบวนการพิจารณามากนัก อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงคาดว่า พรบ.SEC จะได้รับการพิจารณาเห็นชอบ และทำให้โครงการเดินหน้าประกวดราคา เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ตามเป้าหมายกำหนด”

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังกำหนดกรอบการดำเนินงานของโครงการแลนด์บริดจ์ โดยประเมินว่าการร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ จะเสร็จไตรมาส 1 ปี 2569และคัดเลือกผู้ลงทุนเสร็จไตรมาส 2ปี2569 จากนั้นจะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและเสนอ ครม.อนุมัติโครงการในไตรมาส 2ปี2569พร้อมลงนามสัญญากับเอกชนร่วมลงทุน โดยคาดการณ์ว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ในไตรมาส 3 ปี 2569เสร็จพร้อมเปิดให้บริการปลายปี 2573

ธุรกิจตั้งใหม่“เขตเศรษฐกิจภาคใต้:SEC” ไตรมาส1เพิ่มพันราย