‘สินค้าเกษตร’ดิ่งฉุดกำลังซื้อ สัญญาณบริโภคต่างจังหวัดขยายตัวต่ำ

ราคาสินค้าเกษตรดิ่งเกือบทุกตัว ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงกดราคาลงเหลือ 5 บาท “อินเดีย“ เพิ่มส่งออกฉุดราคาข้าวโลก ”จีน” ลดนำเข้ายางหลังสหรัฐลดสั่งซื้อสินค้าแปรรูปจีน “นักวิชาการ” ห่วงกำลังซื้อหดตัวกระทบการบริโภคในภูมิภาค “เกษตรกร” ชี้รายได้สวนทางต้นทุนพุ่ง ราคาข้าวเปลือกบางพื้นที่ไม่ถึง 7 พันบาท เตือนรัฐบาลเตรียมรับมือเกษตรกรประท้วง
KEY
POINTS
- พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ "ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา "ราคาดิ่ง
- ราคาข้าวร่วง เหตุอิ
สถานการณ์ผลิตสินค้าเกษตรไทยมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรไทยปี 2568 คาดว่าขยายตัว 1.8-2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณฝนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2567 น้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ และการดำเนินนโยบายพัฒนาภาคเกษตร
ส่วนปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาปัจจัยการผลิตที่ยังสูง รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบสงครามการค้าจะมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรไทย
ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญของไทยมีทิศทางลดลง ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ของรัฐบาล น.ส.แพททองธาร ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการเปรียบเทียบราคาเดือน ก.ย.2567 เทียบเดือน เม.ย.2568 ต่างกัน
สำหรับราคาปาล์มน้ำมัน เดือน ก.ย.2567 กก.ละ 6.55-7.30 บาท สูงสุด 10.40 บาท ในช่วงกลางเดือน ก.พ.2568 แต่จากนั้นลดลงจนเหลือ กก.ละ 4.60-5.40 บาท
มันสำปะหลัง จาก กก.ละ 2.45-3.35 บาท เหลือ กก.ละ 1.70-2.00 บาท , ยางพารา น้ำยางสด กก.ละ 72.50 บาท เหลือ 56.20 บาท และยางแผ่นรมควันชั้น 3 กก.ละ 88 บาท เหลือ 66.50 บาท
ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% จากตันละ 11,000-11,900 บาท เหลือตันละ 6,800-7,900 บาท , ข้าวเปลือกนาปรัง ความชื้น 25% ขึ้นไป สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเกือบตันละ 7,000 บาท ลดลงจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เคยสูงขึ้นไปที่ตันละ 9,000-10,000 บาท ขณะที่ต้นทุนเพาะปลูกตันละ 6,500-7,000 บาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรหลักทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มีราคาไม่โดดเด่น โดยเฉพาะราคาข้าวต่ำมากจะทำให้กำลังซื้อทั่วประเทศลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างต่ำจากการใช้จ่ายของประชาชนต่างจังหวัดที่เริ่มขยายตัวต่ำ
"เฉพาะราคาข้าวที่ตกต่ำก็จะฉุดกำลังซื้อของประชาชน เพราะเกษตรกรที่ปลูกข้าว 10 ล้านคนทั่วประเทศ 4 ล้านครัวเรือนซึ่งข้าวเป็นพืชหลักเมื่อราคาตกแต่ผลผลิตเพิ่ม ทำรายได้เกษตรกรลดลง ทำให้อำนาจซื้อลดลงไม่ได้เพิ่มขึ้น เช่น ราคาหายไปตันละ 1,000 บาท เราผลิตข้าวได้ 30 ล้านตันข้าวเปลือก เท่ากับเงินหายไป 1- 3 หมื่นล้านบาท หรือฉุดจีดีพี 0.5-0.1%" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนพืชผลทางการเกษตรอื่นที่ราคาตกจะทำให้รายได้ของเกษตรกรหายไปเช่นเดียวกับข้าว ซึ่งแตกต่างกันรวมแล้วคาดว่าน่าจะประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาข้าวไทยคงไม่ปรับสูงขึ้นเพราะซัพพลายข้าวในตลาดโลกมีมากขึ้น เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวตามปกติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องเร่งระบายข้าว และต้องดูว่าจะมีมาตรการอย่างไรช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค สำหรับการแทรกแซงราคารัฐบาลก็คงทำตามความเหมาะสมขณะนี้คงทำอะไรไม่ได้มากสำหรับสถานการณ์ข้าวในปัจจุบัน
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงจะต้องพิจารณาปริมาณที่ผลิตได้จึงจะทราบรายรับของเกษตรกร โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดจึงราคาตลาดโลกมีผลตอราคาในประเทศ และราคาในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก
สำหรับข้าวจะเป็นสินค้าเกษตรที่อ่อนไหวที่สุดเพราะทุกประเทศจะมีมาตรการดูแลชาวนา รวมทั้งช่วงใดที่ผลผลิตไม่เพียงพอในประเทศจะงดการส่งออกทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และถ้าผลผลิตเพียงพอความต้องการจะส่งออกมากและทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
ดังนั้น ทางออกจะต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวและปลูกข้าวทนร้อนที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ส่วนการอุดหนุนของรัฐบาลจะต้องทำแบบมีเงื่อนไข เช่น อุดหนุนเฉพาะการรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่หรือการปลูกข้าวลดการปล่อยคาร์บอน
เกษตรกรชี้รายได้สวนทางต้นทุน
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรไม่ว่าจะเป็นผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากราคาผลผลิตตกต่ำ
ทั้งนี้ สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก เช่น ราคาข้าวเปลือกนาปรังความชื้น 25% ขึ้นไป สัปดาห์ที่ผ่านมา ตันละใกล้เคียง 7,000 บาท จากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตันละ 9,000-10,000 บาท ขณะที่ต้นทุนเพาะปลูกตันละ 6,500-7,000 บาท โดยต้องการให้ราคาข้าวเปลือกขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 8,000 บาท สำหรับความชื้น 25% ขึ้นไป ถ้าความชื้นต่ำกว่า ได้ตันละ 10,000 บาทก็อยู่ได้แล้ว
“ชาวนาและเกษตรกรอื่นกระทบกันหมด ราคาข้าวร่วงลงทุกวัน บางพื้นที่ไม่ถึงตันละ 7,000 บาท แต่ต้นทุนสูง ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉยไม่มีมาตรการใดช่วยเหลือโดยด่วนจะเห็นเกษตรกรทั่วประเทศรวมตัวประท้วงแน่นอน ซึ่งหลายกลุ่มได้หารือเรื่องนี้และกำลังเคลื่อนไหว แต่ยืนยันว่าไม่มีการเมืองหรือนักการเมืองหนุนหลัง ออกมาเพราะเดือดร้อนจริงถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน”
สาเหตุที่ราคาข้าวไทยลงต่อเนื่องเพราะอินเดียกลับมาส่งออกตั้งแต่ปลายปี 2567 และโหมส่งออกจำนวนมากทำให้ไทยส่งออกลดลง แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดช่วยเหลือ ทั้งการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท หรือเงินช่วยเหลือให้ชาวนาเลิกเผาตอซังข้าวไร่ละ 500 บาท ไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งต้องพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ต้านทานต่อโรคให้ผลผลิตสูงและตลาดต้องการ เช่น ข้าวพื้นนุ่ม เหมือนเวียดนาม
ผลผลิตสูงกดราคาปาร์มดิ่ง
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ราคาปาล์มที่ตกต่ำมาจากเนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเกษตรกรเร่งตัดปาล์มน้ำมัน ซึ่งเกิดการกระจุกตัวหน้าโรงงานสกัดน้ำมัน ซึ่งกรมการค้าภายในได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การรับซื้อและแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ กรมการค้าภายในออก 4 มาตรการช่วยเหลือ ทั้งการบริหารจจัดช่องทางพิเศษสำหรับเกษตรกรรายย่อยเพื่อนำผลปาล์มมาจำหน่ายได้โดยตรงทุกวัน รวมถึงการรับซื้อปาล์มน้ำมันโดยเริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2568 ในระยะเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.2568) ในราคา 5 บาทต่อกิโลกรัม (เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18%)
รวมทั้งการสื่อสารประชาสัมพันธ์โดยการรับซื้อตามเงื่อนไขต่างๆ ขอให้ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่และผู้ประกอบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรรับทราบทุกขั้นตอน และใช้มาตรการติดตามคุมเข้มการขนย้ายและกำกับการรับซื้อ
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ เพื่อลดผลผลิตส่วนเกินและช่วยรักษาเสถียรภาพราคาผลปาล์ม และการผลักดันใช้พลังงานทดแทนโดยการใช้ B7 ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาเร่งด่วน
เร่งนำเข้าดันสต็อกล้นกดราคาปัจจุบัน
รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปของสินค้าพื้นฐานที่นำไปใช้เป็นวัตถุดิบและยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ตลาดที่สำคัญคือ จีน ญี่ปุ่นและสหรัฐ
สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรช่วงนี้ปรับตัวลดลงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ประเทศคู่ค้ามีความกังวลการขึ้นภาษีทำให้เร่งนำเข้าสินค้าในช่วงไตรมาสแรกจำนวนมาก
รวมทั้งปัจจุบันมีหลายสินค้าที่สต็อกล้น ทำให้ต้องชะลอการสั่งซื้อ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น เช่นผลผลิตสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก เกิดการกระจุกตัว และตรงกับวันหยุดยาวของไทย โรงงานหยุดผลิต ทั้งหมดนี้ทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในขณะนี้ราคาสินค้าได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นแล้ว
อินเดียเพิ่มส่งออกฉุดราคาข้าวโลก
นอกจากนี้ หากพิจารณาตามรายการสินค้าที่ต้องจับตามอง กรณีของข้าว ราคาที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากอินเดียระบายข้าวในสต็อกหลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศห้ามส่งออกเนื่องจากเกิดภัยแล้ง ประกอบกับราคาในตลาดโลกมีทิศทางขาลง ส่งผลให้ราคาข้าวนาปรังที่เกษตรกรได้รับปรับลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของข้าวหอมมะลิที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น 7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นกิโลกรัมละ 15 บาทง
จีนลดนำเข้ายางเพื่อแปรรูปส่งออก
ส่วนยางพารา ในช่วงเดือน เม.ย.2568 ราคาปรับลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจในมาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐ ทำ
ให้ผู้ประกอบการชะลอการซื้อ โดยมีการขายเฉพาะในสัญญาล่วงหน้าจากสต็อกยางที่เก็บไว้
รวมทั้งตามก่อนหน้านี้ราคาปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกในปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เป็นผลจากความต้องการใช้ยางของประเทศคู่ค้ามี แนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก
ทั้งนี้ ตลาดสำคัญอยู่ที่จีนที่สั่งซื้อยางไปแปรรูปแล้วส่งออก โดยมีตลาดใหญ่ที่สหรัฐ ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบจากมาตรการด้านภาษีของทรัมป์ โดยก่อนหน้านี้ผู้นำเข้ากังวลจึงเร่งสั่งซื้อช่วงไตรมาสแรก ทำให้ราคายางไทยสูงขึ้น แต่ราคาขณะนี้ขาลงเพราะสต็อกยังมี โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ที่เกษตรกรได้รับอยู่ที่ กก.ละ 68.10 บาท เพิ่มขึ้น 8.34% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่วนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากน้ำมันปาล์ม ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศ มีส่งออกบ้างแต่น้อย กรณีที่ราคาตกต่ำตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.-ก.ย.2568 เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดมากเกิดการกระจุกตัวของผลผลิตหน้าโรงงานสกัดน้ำมัน (รถบรรทุกปาล์มน้ำมันติดคิว) โรงงานชะลอการรับซื้อช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์
รวมทั้งส่งผลให้ราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงได้ แต่ขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันขยับขึ้นเป็น กก.ละ 8 บาท
นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบขั้นปฐมภูมิเหล่านี้ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เนื่องจากคู่ค้ายังไม่มั่นใจในนโยบายด้านภาษีของ โดนัลทรัม จึงชะลอแผนสั่งซื้อเมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้ว คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ในขณะที่ สศก.จะติดตามเพื่อประเมินผลกระทบกับรายได้ของเกษตรกร