สบน. ระบุ Moody’s หั่นมุมมอง Outlook สู่ Negative จากปัจจัยเสี่ยงภายนอก

สบน. ระบุ Moody’s หั่นมุมมอง Outlook สู่ Negative จากปัจจัยเสี่ยงภายนอก

สบน. ยัน Moody’s คงอันดับเครดิตไทย Baa1 แต่หั่นมุมมองสู่ Negative Outlook หวั่นปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะภาษีทรัมป์

จากกรณีที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้ประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไว้ที่ระดับ Baa1 ซึ่งถือเป็นอันดับที่อยู่ในเกณฑ์น่าลงทุน (Investment Grade) อย่างไรก็ตาม Moody’s ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) จากระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ลงสู่ระดับเชิงลบ (Negative Outlook)

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การปรับมุมมองในครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจาก ปัจจัยความเสี่ยงภายนอก (External Risks) โดยเฉพาะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่ง Moody’s ประเมินว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงส่งผลกระทบทางอ้อมมายังประเทศคู่ค้าอย่างประเทศไทย 

ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลไทย แม้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและความรุนแรงของผลกระทบได้อย่างชัดเจน แต่ความไม่แน่นอนนี้ได้ส่งผลให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2568 ถูกปรับลดลง จาก 3.3% เหลือ 2.8% ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

Moody’s ระบุว่า การปรับมุมมองเป็น Negative Outlook จากปัจจัยดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ถูกปรับมุมมองไปก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2566 – 2567 ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

มุมมองของ Moody’s ต่อเศรษฐกิจไทย

รายงานของ Moody’s ยังได้แสดงความเห็นต่อปัจจัยต่างๆ ของประเทศไทย ดังนี้

ภาคการเงินต่างประเทศ: ไทยยังคงมีฐานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่งและมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ เดือนมีนาคม 2568 มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เสถียรภาพทางการเงิน: โครงสร้างสถาบันและธรรมาภิบาลของไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งสนับสนุนประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ไทยมีประวัติในการควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำและมีเสถียรภาพ บริหารหนี้ในระดับที่รับได้ แม้จะเพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 ตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศมีความพร้อมรองรับการระดมทุน และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท มีอายุเฉลี่ยยาว ทำให้มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนต่ำ

ภาวะเศรษฐกิจไทย: การเติบโตทางเศรษฐกิจยังช้ากว่าประเทศในกลุ่มเดียวกันนับตั้งแต่โควิด-19 และยังคงมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดการณ์ได้ เช่น ภาษีตอบโต้ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง

ภาคการคลัง: แม้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว แต่ภาษีศุลกากรและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าสหรัฐฯ มีแนวโน้มกระทบการค้าโลก บั่นทอนความเชื่อมั่น และกระทบประเทศเปิดอย่างไทย อาจทำให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลังของไทยล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ความท้าทายเชิงโครงสร้าง: ไทยกำลังเผชิญสังคมสูงอายุ ผลิตภาพการผลิตต่ำ และขีดความสามารถในการแข่งขัน

สบน. ยันพื้นฐานการคลังยังแข็งแกร่ง

นายพชร กล่าวว่า สบน. ในนามกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและยืนยันว่า การปรับมุมมอง (Outlook) ของ Moody’s ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคหรือเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไทย

สบน. เน้นย้ำถึงแนวทางการรองรับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อรองรับต่อมาตรการดังกล่าวในทุกระยะ อาทิ การพิจารณาลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ การบริหารจัดการผลกระทบจากการหาตลาดทดแทนของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยจะมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าและควบคุมการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด ตลอดจนเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นเพื่อบรรเทาผลกระทบ

ในส่วนของภาคการคลัง สบน. ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของภาษีตอบโต้ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลังมีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้วางแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ลดภาระทางการคลังในระยะยาว และเพิ่มพื้นที่ทางการคลังรองรับเหตุการณ์ผันผวนในอนาคต ไทยยังคงมีสถาบันเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่ง การบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีวินัย และมีตลาดทุนภายในประเทศที่เพียงพอรองรับความต้องการกู้เงิน

นอกจากนี้ สบน. ยังชูปัจจัยบวกด้านการลงทุน โดยระบุว่าไทยยังคงสนับสนุน FDI และมีตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 สูงสุดในรอบ 10 ปี รวมถึงรัฐบาลยังมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ และในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่าง EEC ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากแผ่นดินไหวในไตรมาสแรกปี 2568 ก็ตาม

สบน. ในนามกระทรวงการคลัง ขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีแผนปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาครัฐ และกำลังเร่งดำเนินการตามแผนเข้าสู่สมดุลทางการคลังระยะปานกลาง โดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งจากเงินทุนสำรองสูง ภาคส่งออกหลากหลาย และ FDI ที่เพิ่มขึ้น การปรับมุมมอง Outlook ในครั้งนี้ไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศ แต่มาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งไทยยังมีศักยภาพรับมือด้วยนโยบายที่ยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวในระยะปานกลางถึงยาว สบน. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฐานะทางเครดิตของประเทศให้มีความมั่นคงในระยะยาวต่อไป