ไทย ยื่น สปป.ลาวเปลี่ยนที่ตั้งเขื่อนสานะคาม ให้กระทบไทยน้อยสุด

ไทยร่อนหนังสือสปป.ลาว ทบทวนที่ตั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ให้กระทบไทย- สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก คำนึงถึงความสัมพันธ์เป็นที่ตั้ง
คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เห็นชอบไทยทำหนังสือตอบกลับ สปป.ลาว ทบทวนที่ตั้งก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ย้ำต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และกระทบไทยน้อยที่สุด
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมเปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาการดำเนินงานที่สำคัญ ภายใต้การดําเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้แก่ การดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป. ลาว และความคืบหน้าการดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ภายใต้ระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง หรือ PNPCA
และที่สำคัญคือ การเห็นชอบแบบตอบกลับอย่างเป็นทางการ (Reply Form) ของประเทศไทย ต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป. ลาว ซึ่งประเทศไทยต้องการให้รัฐบาลลาวและผู้พัฒนาโครงการ ไปพิจารณาทบทวนตำแหน่งที่ตั้งโครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยน้อยที่สุด รวมถึงการศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะประเด็นการป้องกัน ลดและบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเป็นที่ตั้งและรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับผู้นำและผู้แทนระดับสูง ใน 2 เวทีสำคัญในปี พ.ศ. 2568 - 2569 ต่อเนื่องกัน โดยในปี 2568 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 32 และการประชุมระหว่างคณะมนตรีฯ กับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 25 - 27 พฤศจิกายน 2568 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงราย
การประชุมนี้มีเป้าหมายเพื่อติดตามความคืบหน้าและกำหนดทิศทางการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง โดยปี 2568 ยังนับเป็นโอกาสพิเศษ ครบรอบ 30 ปีแห่งการลงนามความตกลง ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ต่อเนื่อง ในปี 2569 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 2 - 5 เมษายน ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมดังกล่าวถือเป็นเวทีสำคัญ ที่ผู้นำประเทศสมาชิกจะร่วมกำหนดทิศทางและนโยบายความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยจะมีการประชุมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การประชุมวิชาการนานาชาติ การประชุมระดับรัฐมนตรี และ การประชุมสุดยอดผู้นำ
โดยที่ประชุมฯ มอบให้ สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยบูรณาการ ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และร่วมขับเคลื่อน วาระสำคัญในการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง อย่างยั่งยืน
ด้านดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช. ได้ดำเนินการจัดทำร่าง Reply Form ฉบับภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PC) ภายใต้ PNPCA โดยได้รวบรวมข้อห่วงกังวลและ ข้อเสนอแนะจากข้อมูลแหล่งต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นจากภาคประชาชนหรือรายงานทางเทคนิคต่างๆ อย่างครบถ้วน และได้ผ่านการพิจารณาในการประชุมเชิงปฏิบัติการในการประชุมเวทีร่วมระดับชาติ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 และการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและบูรณาการด้านยุทธศาสตร์ ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 และในวันนี้ (30 เมษายน 2568) คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้เห็นชอบแบบตอบกลับ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่แสดงท่าทีและจุดยืนของประเทศไทยต่อโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ของ สปป.ลาว