'ไทยสมายล์บัส' ลุยรถเมล์ต่างจังหวัด พร้อมดึง AI บริหารจัดการ

'ไทยสมายล์บัส' ลุยรถเมล์ต่างจังหวัด พร้อมดึง AI บริหารจัดการ

“ไทยสมายล์บัส” เปิดแผนธุรกิจปีนี้ลุยขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดหวังดันรายได้โตต่อเนื่อง เปิดตัว Transit Smart Hub ศูนย์ควบคุมอัจฉริยะครบวงจรแห่งแรกของไทย

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนรถโดยสารให้บริการ 1,650 คัน รองรับผู้โดยสารใช้บริการรถโดยสาร TSB เฉลี่ยอยู่ 4 – 4.5 แสนคนต่อวัน รายได้ประมาณ 7 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเป้าหมายในปีนี้บริษัทฯ จะทยอยนำรถโดยสารให้บริการเพิ่มเติมครบ 2,150 คัน และเตรียมรถโดยสารไว้เพื่อให้บริการเสริมหมุนเวียนอีก 200 คัน

อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าการปรับเพิ่มจำนวนรถโดยสารเข้าระบบบริการนี้จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นสูงสุดได้ถึง 5.5 แสนคนต่อวัน รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านบาทต่อวัน หรือรายได้รวมตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนาบริการผู้โดยสาร เร่งขยายช่องทางจำหน่ายบัตร HOP Card เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารใช้จ่ายค่าโดยสารในเครือไทยสมายล์กรุ๊ป ทั้งรถเมล์ไฟฟ้าและเรือโดยสารไฟฟ้า เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ

\'ไทยสมายล์บัส\' ลุยรถเมล์ต่างจังหวัด พร้อมดึง AI บริหารจัดการ

นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทฯ ได้ทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท เพื่อนำเอาเทคโนโลยีมาควบคุมการเดินรถ-เรือ ภายใต้ศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ Transit Smart Hub หรือ TS-HUB โดยมีเป้าหมายจัดเก็บข้อมูลเพื่อติดตามการเดินรถ ตรวจสอบบริการของพนักงาน และสามารถปรับปรุงแก้ไขทุกปัญหาได้ทันที อีกทั้งยังคาดว่าการจัดเก็บ Data Center จะสามารถนำข้อมูลไปปรับปรุงพัฒนาการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ และทำให้รถเมล์ของไทยก้าวไปสู่บริการรถเมล์ชั้นนำของโลก

สำหรับศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ จะควบคุมด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอยมอนิเตอร์รวบรวมข้อมูลการเดินทางตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถตรวจสอบ บริหารจัดการคุณภาพการให้บริการได้อย่างเรียลไทม์ อาทิ Bus Stop Distribution แสดงความหนาแน่นของจำนวนรถที่ผ่านป้าย, Passenger Flow Statistics การแสดงจำนวนผู้โดยสารตามป้ายต่างๆ, Dispatching การปล่อยรถแต่ละสาย แสดงตำแหน่งรถแต่ละคันในเส้นทาง

\'ไทยสมายล์บัส\' ลุยรถเมล์ต่างจังหวัด พร้อมดึง AI บริหารจัดการ

ระบบ Alarm Report การแจ้งเตือนพฤติกรรมคนขับขณะให้บริการ, Realtime CCTV ตรวจสอบกล้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และ Data Dashboard สามารถติดตามตัวชี้วัดสำคัญขององค์กรสร้างความโปร่งใสและวัดผลได้ นอกจากนี้ระบบของห้อง TS-HUB ยังเข้ามาช่วยเสริมการบริหารงานหลังบ้าน จัดเก็บข้อมูลเพื่อลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวด้วยว่า ศูนย์ควบคุมอัจฉริยะนี้จะเป็นศูนย์กลางที่สามารถตรวจสอบติดตามรถโดยสารทั้งหมดของ TSB ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในระบบ 2,350 คัน และในอนาคตจะเพิ่มถึง 5,000 คัน ซึ่งศูนย์ควบคุมจะจัดเก็บข้อมูลนำไปวิเคราะห์ด้วย AI และประเมินแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการให้บริการผู้โดยสาร เรื่องร้องเรียนต่างๆ ก็จะหมดไป และเชื่อว่าที่สุดความพึงพอใจจะมากขึ้นไปเกือบ 100% โดยบริษัทฯ ขอยืนยันว่าการลงทุนศูนย์ควบคุมนี้จะไม่ผลักภาระไปกระทบต่อค่าโดยสารของประชาชน

\'ไทยสมายล์บัส\' ลุยรถเมล์ต่างจังหวัด พร้อมดึง AI บริหารจัดการ

ด้านนายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB กล่าวว่า ปีนี้บริษัทฯ ยังมีแผนขยายธุรกิจในรูปแบบ B2G หรือ Business to Government โดยอยู่ระหว่างศึกษาเข้าไปให้บริการรถโดยสารสาธารณะในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการเพิ่มรายได้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปทำขนส่งสาธารณะใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ลำพูน อยุธยา และปทุมธานี โดยรูปแบบการลงทุนนั้นจะเป็นลักษณะหน่วยงานท้องถิ่นที่ต้องการมีระบบขนส่งสาธารณะ มีรถโดยสารประจำทาง ก็จะเสนอขอเปิดเส้นทางเดินรถไปยังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) หลังจากนั้นจะมีการเปิดประมูลให้เอกชนเข้าไปร่วมทุน ซึ่งบริษัทฯ พร้อมเข้าไปร่วมประมูลส่วนนี้

นายวรวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่บริษัทฯ ปรับอัตราค่าโดยสารรูปแบบใหม่ ยอมรับว่าเป็นผลทำให้รายได้ของบริษัทฯ ลดลงราว 7 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มเห็นผลในเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป อีกทั้งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ยังต้องสูญรายได้จากการชดเชยส่วนลดให้กับบัตร HOP อีกประมาณ 8 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ในช่วงนี้บริษัทฯ ต้องสูญรายได้ค่าโดยสารรวมประมาณ 15 ล้านบาทต่อเดือน แต่มองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการจ่ายค่าโดยสารถูกลง

ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาว บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาปรับสูตรคำนวณค่าโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีป้ายจุดจอดรถเมล์เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ เตรียมเสนอขอปรับโครงสร้างตารางค่าโดยสารใหม่ จากปัจจุบันมี 3 อัตรา คือ 15 - 20-25 บาท จะปรับเป็น 5-6 อัตรา เช่น 15-17-20-22-25 บาท เพื่อลดช่องว่างของราคา และสอดคล้องกับการใช้บริการจริงของผู้โดยสาร เป็นราคาที่เป็นธรรมต่อการเดินทางมากขึ้น หากเทียบกับราคาปัจจุบันที่มีกรอบห่าง 5 บาท

\'ไทยสมายล์บัส\' ลุยรถเมล์ต่างจังหวัด พร้อมดึง AI บริหารจัดการ