ต่อให้“โลก”ไม่รักเรา แต่เราต้อง"รักษ์โลก”
หาก Climate Change คือโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็ง ขณะที่ Recession คือไข้หวัด ถามว่าเราต้องลงมือรักษาพยาบาลเรื่องใดก่อน? ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า หากเรารักษ์โลกก็จะรักเราไม่ทำร้ายเรา
ในเวที“GC Circular Living Symposium 2022: Together to Net Zero” จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร พูดถึงเป้าหมาย Net Zero (เนื้อหาบางส่วนเท่านั้น)ว่า เป็นเหมือนสโลแกนสักอย่างที่ทำได้ยาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันกำลังเป็นความท้าทายว่าธุรกิจรายเล็ก หรือ แม้แต่คนทั่วไปจะผ่านปีนี้ไปได้อย่างไร ไม่ต้องถามถึงปี2050 หรือ ปี2060
คำถามนี้ชวนให้คิดและผู้เขียนมีความเห็นว่า มีส่วนจริงอยู่ครึ่งหนึ่งคือถ้าวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า หนี้ครัวเรือนสูง ค่าครองชีพสูง ขณะที่รายได้คงที่หรือลดลง “เรา” คือคนทั่วไป และธุรกิจการค้าต่างๆ จะต้องจดจ่อกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนเราเป็นหวัดต้องพักผ่อน กินยา มากกว่าที่จะคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ ไม่ทำให้ใครพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นคนหัวใจสีเขียวได้เลย เพราะการรักษ์โลกมีต้นทุนที่สูงในหลายด้าน ทั้งต้นทุนที่ต้องแลกด้วยความสะดวกสบายที่ลดลง หรือหายไป ต้นทุนที่ต้องแลกด้วยราคาที่แพงขึ้นหากจะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ยังไม่ต้องพูดถึงภาคธุรกิจที่ต้องจ่ายแพงขึ้นอีก หากจะปรับเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงเพื่อประหยัดพลังงาน หรือ เลือกใช้พลังงานสะอาด
“ต้นทุนที่ว่านี้ ไม่มากหากเป็นช่วงเศรษฐกิจปกติเพราะนั่นหมายถึงผลตอบแทนจากเสียงตอบรับด้านการตลาดที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันและอนาคตเรียกร้องสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่คือผลที่จะเป็นกำไรหลังการลงทุน แต่ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคตอีกเช่นกัน เพราะผู้บริโภคเองก็กำลังบอบช้ำจากพิษเศรษฐกิจ การปรับเพื่อเปลี่ยนสู่เทรนด์สีเขียวไม่ใช่เรื่องง่ายท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงลิ่ว”
ชักจะน้อยใจซะแล้ว! เหมือนโลกจะไม่รักเรา ทั้งที่เรารักษ์โลก แต่ถ้า“เรา”ยังบริโภคแบบเดิม หรือ ปล่อยปะละเลยสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ปลายทางเดาได้ไม่ยาก ว่า “มะเร็งหรือสภาพอากาศปั่นป่วน” กำลังรออยู่ และตอนนี้ก็ส่งสัญญาณเตือนมาเป็นระยะๆแล้ว ง่ายๆคือ ฝนตกหนัก หนักมาก หนักที่สุด และน้ำท่วม ขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งอย่างยุโรป เจอคลื่นความร้อน หรือแม้แต่ซีกโลกเดียวกันแต่คนละประเทศอย่างจีน ที่แม่น้ำทั้งสายเหือดแห้ง
ตอนนี้เศรษฐกิจยังไม่หายจากไข้หวัด แต่ก็อย่าลืมว่าป่วยไข้ไม่ทำให้เราตาย แต่มะเร็งหรือโลกร้อนอาจทำให้มวลมนุษยชาติสูญสิ้นได้ เรื่องนี้พอมีทางออก
ในเวทีเดิม ผู้พูดคนเดิม ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเลือกที่จะปลูกต้นไม้เยอะๆ เพื่อชดเชยกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ตั้งเป้าหมายไว้ล้านต้น ตอนนี้ มีหลายภาคส่วนแสดงความจำนงร่วมด้วยช่วยกัน และเราได้ลงมือทำแล้ว
แม้ปัญหาโลกร้อนจะเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว แต่อัตราเร่งแห่งความปั่นป่วนของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงกำลังทำให้เราวางเฉยต่อปัญหานี้ไม่ได้ ตอนนี้ต้องบอกว่าทำอะไรได้ก็ให้เร่งทำเท่าที่จะสามารถก่อนจะเลวร้ายจนสุดความสามารถที่จะแก้ไข แม้โลกเหมือนจะไม่รักเราแต่เราก็ยังต้องรักษ์โลกเพราะนั่นคือการรักตัวเอง