เปิดร่างคุมสัญญาเช่าซื้อ"หุ้นไหนได้-หุ้นไหนเสีย"?
การระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย หลังต้องใช้ยาแรงปิดประเทศ มีการประกาศล็อกดาวน์ รวมทั้งมาตรการเคอร์ฟิวเพื่อกำหนดเวลาเข้าออกบ้านและเปิดให้บริการบริษัทห้างร้านต่างๆ
ขณะเดียวกันเมื่อกำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อยอดขาย จนหลายกิจการไปต่อไม่ไหว ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน จึงต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
และแน่นอนว่าเมื่อมีการปิดกิจาการ ต้องมีคนตกงานตามมาอีก เรียกว่ากระทบต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ขณะที่หลายบริษัทพยายามรัดเข็มขัด ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดเงินเดือนพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
ในมุมของภาคประชาชนสถานการณ์โรคระบาดยิ่งซ้ำเติมให้ชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากยิ่งไปอีก จากปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สูงกว่า 14.24 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ของจีดีพี ขณะที่แนวโน้มหนี้เสียยังอยู่ในช่วงขาขึ้น
โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อย่างหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ รวมถึงหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตต่างๆ ซึ่งในสถานการณ์ปกติก็แย่อยู่แล้ว หลายคนทำงานได้เงินมาต้องเอามาใช้หนี้ ยิ่งมาเกิดโรคระบาด รายได้ลดลง แต่หนี้ไม่ลด เลยยิ่งซ้ำเติมไปอีก
จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ พักหนี้ ยืดหนี้ ให้กับลูกค้าของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยลูกหนี้ในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ ขณะเดียวกันในกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อมีแนวคิดในการเข้ามาควบคุมกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานต์ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยกันสูงมากกว่า 30%
โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งตั้งแต่มีข่าวออกมากลายเป็นปัจจัยกดดันและส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ทันที เพราะจะมีกรอบของกฎหมายเข้ามาควบคุมอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงจนกลายเป็นภาระของผู้บริโภค
ขณะนี้ สคบ. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นรอบที่ 2 ในวันที่ 3-17 ธ.ค. นี้ และหากดูจากรายละเอียดที่มีการเปิดเผยออกมาในเบื้องต้นดูจะผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับรอบแรก โดยมีประเด็นสำคัญ
1.จะควบคุมเฉพาะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้ส่วนตัวเท่านั้น ต่างจากร่างฉบับแรกที่จะควบคุมรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรทางการแพทย์ด้วย
2. การคิดดอกเบี้ย จากเดิมรถทุกประเภทจะคิดดอกเบี้ยเท่ากันไม่เกิน 15% เปลี่ยนเป็นรถยนต์ใหม่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ส่วนรถยนต์เก่า รถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ คิดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 20%
3. โครงการคืนรถจบหนี้ เปิดให้คืนรถได้เมื่อผ่อนไปแล้วอย่างน้อย 1 ใน 3 ของค่างวด จากเดิมไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในส่วนนี้ โดยสามารถคืนได้ทุกช่วงเวลา
4. การจ่ายชำระหนี้ปิดสัญญาก่อนครบกำหนดจะได้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 60-80% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการปิดสัญญา จากร่างฉบับแรกกำหนดไว้ที่ 80% ในทุกช่วงเวลา
หากอิงกับร่างฉบับล่าสุด ถือว่ามีการปรับให้เหมาะสมมากขึ้นตามความเสี่ยงของรถแต่ละประเภท นอกจากนี้ยังเปิดทางให้ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาค้างชำระ สามารถใช้ช่องทางคืนรถจบหนี้เพื่อคืนรถ โดยธนาคารจะไม่สามารถเรียกเก็บส่วนต่างได้
ดูแล้วกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบจากร่างสัญญาเช่าซื้อฉบับนี้มากที่สุด เห็นจะเป็นกลุ่มเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แม้จะขยายเพดานดอกเบี้ยจาก 15% เป็น 20% แต่ปัจจุบันหลายบริษัทคิดดอกเบี้ยสูงกว่านี้ ส่วนกลุ่มสินเชื่อรถยนต์แทบไม่ได้ผลกระทบ เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารต่างๆ คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กำหนดอยู่แล้ว
โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์เก็บดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ต่ำกว่าที่กำหนดในร่างใหม่ มี Yield on loan ราว 5% - 7.7% ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ค่อนข้างได้รับผลกระทบ เนื่องจาก Yield เดิมสูงถึง 40% มีเพียง TISCO ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการ ระบุว่ามีสัดส่วนลูกหนี้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ราว 2.3% ผลกระทบจึงจำกัด
แต่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมี TK, S11 และ NCAP เนื่องจากคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าสูงกว่า 20% อยู่ค่อนข้างมาก ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ SAWAD, MTC และ TIDLOR ซึ่งมีสัดส่วนเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ 12%, 3% และ 0.5% ของสินเชื่อรวม ตามลำดับ ได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากยังมีสัดส่วนไม่มาก และคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 20% อยู่แล้ว รวมทั้งสามารถปรับกลยุทธ์มาใช้สัญญาสินเชื่อประเภทอื่นปล่อยสินเชื่อควบคู่กันไปได้