จริยธรรมเครือข่ายสังคมสำหรับผู้บริหาร | บวร ปภัสราทร
การใช้เครือข่ายสังคมไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนอะไรให้กับใครไม่ง่ายเลยในวันนี้ เรื่องที่คนหนึ่งเห็นเป็นเรื่องธรรมดาอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับคนอื่น
พ่อแม่โพสต์รูปลูกกำลังทำอะไรสักอย่างที่ดูว่าน่าเอ็นดูในวันนี้ อาจกลายไปทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคกับหน้าที่การงานของเขาในอนาคตก็เป็นได้ สาระในเครือข่ายสังคมไม่ค่อยหายไปไหน
สาระนั้นจะมีแนวโน้มจะอยู่ยงคงกระพันมากกว่าในอดีต สาระที่สนุกวันนี้อาจเป็นทุกข์ในวันหน้าได้ หวังดีวันนี้ วันหน้าอาจกลายเป็นหวังร้ายก็ได้
ผู้บริหารใช้เครือข่ายสังคมตั้งแต่สื่อสารกับบุคลากร ไปจนกระทั่งสั่งการงานกันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง จึงต้องระมัดระวังให้การใช้เครือข่ายสังคมเป็นไปอย่างมีจริยธรรม โดยเฉพาะเมื่อการแยกแยะระหว่างการใช้เพื่อส่วนตัว กับการใช้ในการงานในบ้านเรานั้นทำได้ไม่ง่ายนัก
ลองดูเฟซบุ๊คของผู้บริหารหลายคน จะเห็นว่า ท่านก็โพสต์ปนกันไปมาระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องการงาน การดูแลการใช้งานให้เป็นไปอย่างมีจริยธรรมเลยซับซ้อนขึ้นไปอีก
หลักใหญ่ๆ ในการใช้งานเครือข่ายสังคมอย่างมีจริยธรรมของผู้บริหารคือ ใช้เครือข่ายสังคมเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีกับผู้รับสาระนั้น และไม่ใช้เครือข่ายสังคมเพื่อทำร้ายใคร
ซึ่งดูแค่หลักจริยธรรมสองหลักนี้คงเห็นตรงกันว่า ไม่น่าจะเข้าข่ายที่กระทำกันอยู่ในบ้านเราในปัจจุบัน เราเห็นสาระที่ไม่สร้างความรู้สึกดีๆ จากเครือข่ายสังคมของคนใหญ่คนโตอยู่เป็นประจำ
เราเห็นการใช้เครือข่ายสังคมเป็นช่องทางในการให้ร้าย สร้างความข่มขื่นให้กับคนอื่นจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา วันดีคืนดีสื่อกระแสหลักยังเอาสาระที่ทำร้ายคนอื่นจากเครือข่ายสังคมไปถ่ายทอดต่อกันเสียอีก มีผู้คนไม่น้อยที่ส่งต่อสาระจากเครือข่ายสังคมของผู้บริหารกระจายออกไปในวงกว้าง
ผู้บริหารอาจกระจายความทุกข์ให้กับคนมากมายได้อย่างไม่น่าเชื่อ กระจายไปได้ทั้งในและนอกองค์กรของตน หรือสาระในเครือข่ายสังคมที่เผยแพร่ออกไปอาจกลายเป็นเหมือนขีปนาวุธบินย้อนกลับมาเล่นงานตัวท่านเองได้เช่นกัน
ดังนั้นขอแนะนำว่าผู้บริหารควรยึดสองหลักจริยธรรมนี้ไว้ให้ดี ในทุกวินาทีที่ใช้เครือข่ายสังคม
การใช้งานเครือข่ายสังคมเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีทำได้ไม่ยาก จะชมใครก็ได้ จะแบ่งความรู้ใด ๆก็ดี จะชวนกันสร้างสรรค์อะไรก็ทำได้เช่นกัน แต่ที่ยากกว่าคือใช้อย่างไรไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น
ถ้าจะใช้เครือข่ายสังคมไม่ให้ไปทำร้ายใคร ให้ทบทวนทุกครั้งว่าสาระที่จะเผยแพร่นั้นเป็นสาระที่เป็นส่วนตัวของใครหรือไม่ หวังดีไปโพสต์ภาพพนักงานหนุ่มสาวกินข้าวด้วยกันแบบสุดแสนโรแมนติก กะว่าจะให้พนักงานรู้สึกดีที่เห็นภาพโรแมนติกของตนในเฟซบุ๊ค แต่ลืมเช็คว่าสองคนนั้นไม่ใช่คู่สามีภรรยา จึงไม่มีใครรับรองได้ว่าภาพนั้นจะไปทำร้ายใครได้บ้างหรือไม่ในวันหน้า
ถ้าจะเผยแพร่สาระส่วนตัวของใคร ผู้บริหารต้องให้เขาเห็นชอบก่อนเสมอ อย่าถืออำนาจว่าฉันเป็นใหญ่ ฉันทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องขอความเห็นใดๆ
ผู้บริหารต้องไม่เผยแพร่สาระที่แสดงจุดด้อยของบุคลากรให้ปรากฏในเครือข่ายสังคม เพราะนั่นเป็นเสมือนการตำหนิพนักงานในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สั่งสอนกันมาว่าไม่พึงกระทำ การตำหนิต้องทำเป็นส่วนบุคคล แต่เครือข่ายสังคมไม่ว่าจะเป็นส่วนตัว หรือกลุ่มก็ตาม เป็นพื้นที่สาธารณะทั้งสิ้น
ถ้าคิดว่าฉันเขียนด่าตรงไปที่ไลน์ส่วนตัว ใครจะมาเห็นได้อีกนอกจากเจ้าของไลน์แอคเคาท์นั้น ลองนึกต่อไปว่าสมาร์ทโฟนเครื่องนั้น มีใครที่อาจจะดูได้อีก คนในครอบครัวเขาจะดูได้หรือไม่ ตำหนิกันต่อหน้าในที่รโหฐาน ตำหนิแล้วก็จบแค่นั้น แต่ด่าในไลน์อ่านซ้ำกี่ครั้งก็เหมือนถูกด่าซ้ำเท่านั้น
นอกจากไม่ทำร้ายคนอื่นแล้ว ผู้บริหารต้องไม่ทำร้ายตนเองด้วยการเผยแพร่สาระใด ๆในเครือข่ายสังคมที่จะทำให้ลดทอนความน่าเชื่อถือในตัวผู้บริหาร
ข้อความล้อเล่นแบบหมาหยอกไก่อาจจะเหมาะกับการพูดคุยในงานเลี้ยงมากกว่าการเป็นคลิปในเฟซบุ๊ค ชีวิตจริงจะกินเหล้า หรือนิยมขุนแผนมากแค่ไหนก็ตาม สาระบนเครือข่ายสังคมต้องไม่มีร่องรอยให้เห็นได้เลย.