รบจนตายหมดป้อม... เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ | เรือรบ เมืองมั่น

รบจนตายหมดป้อม... เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ | เรือรบ เมืองมั่น

ก่อนหน้าที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนเมื่อ 24 ก.พ.65 Mariupol ในการรับรู้ของสังคมโลกเป็นเพียงเมืองใหญ่อันดับที่ 11 ของยูเครน มีความสำคัญก็จริงแต่ก็ยังชื่อดังไม่เท่าเมืองท่าริมทะเลดำอย่าง Odesa หรือเมืองในเขต Donbas ที่รบแบ่งแยกดินแดนกันมานานหลายปีแล้ว

แต่เมื่อเกิดสงคราม Mariupol กลับกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุด (นอกเหนือจากกรุงคีฟเมืองหลวงที่ถ้ายึดได้ประเทศยูเครนล่มทันที) เพราะเป็นจุดที่เชื่อมแคว้น Crimea ในทะเลดำที่รัสเซียผนวกตั้งแต่ปี 2014 กับเขตดอนบาสส่วนที่รัสเซียร่วมกับกบฏที่ตั้งเป็นสาธารณรัฐใหม่  

หากกลายเป็นผืนเดียวกันทั้งผืนภายใต้การควบคุมของรัสเซีย  รัสเซียจะต่อเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตนได้หมดเพราะควบคุมทะเล Azov ได้  การส่งกำลังบำรุงจากทะเลดำไปรัสเซียตะวันตกจะไหลลื่น  

มาริอูโปลที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอาซอฟ จึงเป็นจุดที่รัสเซียต้องยึดให้ได้  แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ  ถมศพกันเข้าไป

บทความชิ้นนี้ไม่ได้กล่าวถึงการต่อสู้อย่างยิบตาของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของยูเครนที่มีมากว่า ๒ เดือน จนหลงเหลือกำลังราวพันเศษ ต้องซุ่มซ่อนอยู่ใต้ที่มั่นโรงงานเหล็ก Azovstahl ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของเมืองพินาศสิ้นและอยู่ในกำมือของกองทัพรัสเซียไปแล้ว

ขณะที่เขียนอยู่นี้ก็ไม่ทราบว่า สุดท้ายชะตากรรมของพวกเขาและพลเรือนชาวยูเครนที่หลบอยู่ด้วยกันจะเป็นอย่างไร 

 แต่ก็ให้ห่วงว่าถ้าหากไม่มี Safe Passage คือการยอมเปิดทางเพื่อมนุษยธรรมให้พวกเขาออกเดินทางจากฐานที่มั่นโดยสวัสดิภาพแล้ว โศกนาฏกรรมหมู่อาจตามมา  

บทความชิ้นนี้จะเล่าเรื่องให้อดีตของเหตุการณ์ที่เคยเกิดคล้าย ๆ อย่างนี้ในซึกโลกด้านอื่น คือการสู้ไม่เลิกจนตายกันหมดป้อม

    การเปิดเส้นทางมนุษยธรรมให้ศัตรูและครอบครัวอพยพออกจากพื้นที่มั่นไปที่อื่น แล้วฝ่ายบุกที่เป็นฝ่ายชนะจะเข้ายึดที่มั่นนั้นแทนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยใจที่เปิดกว้างของฝ่ายบุก  

เพราะต้องประเมินชัดเจนแล้วว่าถ้าไม่ยอมทำเช่นนี้ ฝ่ายรับจะสู้จนตัวตายหมด ซึ่งอาจดีในแง่ของการไม่มีศัตรูในพื้นที่อีกต่อไป  แต่ข้อเสียคือฝ่ายตนอาจสูญเสียอย่างหนักไปด้วย และฝ่ายรับก็มักจะทำลายสิ่งอำนวยประโยชน์ทุกอย่างของที่มั่นนั้นให้เสียไปทำนองให้ยึดได้ไปแต่ปถพีเปล่า ๆ  

เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งที่เป็น Safe Passage คือการยึดเมือง Jerusalem เมื่อปี 1187  ที่ Saladin ขุนศึกชาวมุสลิมผู้พิชิตตกลงกับ Balian von Ibelin นักรบครูเสดของฝ่ายคริสเตียน  ให้ฝ่ายหลังอพยพนักรบและพลเรือนส่วนหนึ่งประมาณหมื่นคนออกไปจากเมืองโดยปลอดภัย โดยแลกกับทองคำ

แต่ก็ยังมีคนอีกนับหมื่นต้องถูกขายเป็นทาส เหตุผลเบื้องหลังการยอมทำตามข้อตกลงของซาลาดินคือ เบเลงขู่จะทำลายศาสนสถานของชาวมุสลิมในเมืองเยรูซาเล็มให้หมด และสังหารเชลยศึกที่เขาจับตัวไว้หากผู้ชนะไม่ยอมเปิดทางให้

แต่เหตุการณ์ในที่อื่นที่จะเล่าต่อไปนี้ฝ่ายรับไม่มีทั้งทรัพย์สินมีค่า ของศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือเชลยศึกที่ฝ่ายบุกต้องคำนึงถึง  อีกทั้งฝ่ายบุกมีปัจจัยเอื้ออำนาจต่อการล้อมที่มั่นข้าศึกเพียงพอ  

เช่น ควบคุมเส้นทางส่งกำลังบำรุงไว้อย่างสมบูรณ์ หรือผู้นำไม่มีธุระอื่นจนต้องจำกัดเวลาการล้อม  จึงสามารถปิดล้อมป้อมค่ายของศัตรูจนแทบจะอดตาย  และนำไปสู่การฆ่าตัวตายทั้งป้อม 

รบจนตายหมดป้อม... เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ | เรือรบ เมืองมั่น

เช่น ศึก Masada ค.ศ. 74 ที่กบฏชาวยิวก่อการลุกฮือขึ้นปลดแอกดินแดน Judea ออกจากการเป็นขี้ข้าอาณาจักรโรมัน    ตอนนั้นกองทัพโรมันล้อมป้อมมาซาดาที่มั่นสุดท้ายของพวกเขาห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 50 กม.นานร่วม 3 ปีจนพวกเขาขาดอาหาร  จึงตัดสินใจกินยาพิษตายไป 960 คน เหลือเด็กและผู้หญิงเพียง 7 คนเมื่อตอนทหารโรมันรุกเข้าป้อมได้  

ทุกวันนี้มาซาดาถือเป็นสถานที่รวมจิตใจของชาติอิสราเอล  ทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ทุกคนต้องไปรวมตัวรำลึกสาบานธงกันที่นั่นทุกปี     

    เหตุการณ์แบบนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มี  ตอนที่กองทัพดัทช์ เจ้าอาณานิคมบุกเข้าตีอาณาจักรต่าง ๆ ของชาวพื้นเมืองบนเกาะบาหลีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20  แน่นอนว่าชาวเกาะสู้ไม่ได้ แต่แทนที่จะยอมแพ้  กษัตริย์พื้นเมืองกลับทำพิธีที่เรียกว่า Puputan กันหลายแคว้น นั่นคือราชาของแคว้นนำลูกเมียออกไป ฆ่าตัวตายหมู่ ต่อหน้าศัตรู 

ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1906 หน้าพระราชวังกรุง Denpasar โดยราชาแห่งบาหลี แต่งชุดขาวประดับธงทิวนำครอบครัวและข้าราชบริพารออกมารำกริชหน้ากองทัพฮอลแลนด์  จ้วงแทงกันเองจนตายนับพันศพ

รบจนตายหมดป้อม... เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ | เรือรบ เมืองมั่น

นอกเหนือจากการฆ่าตัวตาย  การรบจนถูกฆ่าตายหมดทั้งนักรบและชาวเมืองนั้นมีในบันทึกประวัติศาสตร์   เมื่อปี 1568 อาณาจักรโมกุลที่ครองอินเดียเหนืออยู่เวลานั้นไม่พอใจอาณาจักร Rajastan ของพวกเจ้า Rajputs ที่ท้าทายอำนาจ  จึงบุกตีทุกแคว้นย่อย พวกราชปุตรก็สู้เต็มที่ เพราะถือว่าตัวเป็นชาตินักรบ 

ที่สู้หนักสุดก็คือแคว้น Mewar ป้อม Chittorgarh เป็นป้อมขนาดยักษ์กั้นกลางระหว่างวังของเมวะกับศัตรู ตอนนั้นกษัตริย์เมวะถูกขอร้องให้อพยพหนีออกไปก่อน เหลือทหารกล้าอาสารักษาป้อมอยู่ 8,000 นายกับชาวเมืองอีกสามหมื่นคน  

พระเจ้า Akbar มหาราชแห่งโมกุลล้อมเมืองอยู่ 58 วันจึงสามารถขุดอุโมงค์ไปวางระเบิดถล่มฐานรากกำแพงป้อมแตก  สามารถบุกเข้าป้อมไปสังหารฝ่ายต่อต้านทุกคน    

สุดท้ายฝ่ายรับศึกที่มาริอูโปลจะกลายเป็นแบบใดกัน....