ขายเทหุ้นหลบภัย หรือมองไกลอีกห้าปี?
5 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 DOW ร่วง 1,063จุด ภายในวันเดียว นักลงทุนตลาดหุ้นอเมริกันหวั่นไหว กลัวธนาคารกลางอเมริกา "The Fed" คุมเงินเฟ้อไม่อยู่ แม้จะเริ่มทำใจรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามที่คาดไว้
ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้นวันที่ 4 พฤษภาคม แต่วันรุ่งขึ้นพากันขายเท Nasdaq หายไป 5% บริษัทเทคโนโลยีโดนพายุหนักที่สุด Bitcoin ต่ำกว่า 37,000 ดอลลาร์ เงินกู้ซื้อบ้าน 30 ปีดอกเบี้ยขึ้นขยับมาเฉลี่ยที่ 5.27% สูงสุดนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2009
อัตราคนว่างงานในอเมริกาต่ำมากที่ 3.6% นายจ้างหาคนทำงานลำบาก หลายคนเปลี่ยนอาชีพ ปรับตัวใช้ชีวิตแบบใหม่ ลดค่าใช้จ่าย หางานที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า แต่เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นยุคที่ลูกจ้างมีอำนาจการต่อรองสูง
ขาดบุคลากร ผลผลิตในบริษัทก็ลดลง สินค้าและบริการหายาก ค่าจ้างแพงขึ้น ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น supply chainติดขัด กลายเป็นเงินเฟ้อ
หากดอกเบี้ยยังคงต่ำต่อไป ชาวอเมริกันแย่งกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทั้งอยู่อาศัยเองและเก็งกำไร ราคาขึ้นปีละ 20% เมื่อทรัพย์สินจากการลงทุนเพิ่มขึ้น มากกว่าการออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้คนเลือกงาน หรือไม่ทำงานเลย
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นลูกโซ่ของเงินเฟ้อที่น่าเป็นห่วง เราจะโทษธนาคารกลางของอเมริกาก็คงยาก หากไม่ขยับขึ้นดอกเบี้ยกระแสนี้ก็จะเอาไม่อยู่ The Fedไม่มีทางเลือก หากปล่อยไว้อาจจะพังทั้งระบบครับ
บรรยากาศในจีนน่าวิเคราะห์ครับ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆเริ่มลดจำนวนพนักงาน 10-15% บริษัทที่มีกำไรสูงกลายเป็นเป้าสายตา กำลังเจอความกดดันให้แบ่งปันโอกาสให้กับสังคม ยุทธศาสตร์ของบริษัทเหล่านี้กำลังเปลี่ยน แม้จีนจะปลอดภัยและสูญเสียน้อยมากจากโควิด แต่การปิดกั้นประเทศไม่ไปมาหาสู่กับนานาชาติ เริ่มกระทบทางลบต่อการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาสินค้า รวมทั้งคุณภาพทรัพยากรมนุษย์
ผู้นำจีนออกมาย้ำให้ผู้บริหารมั่นใจกับนโยบายเข้มงวด ในการควบคุมและกำจัดโควิดให้เหลือศูนย์ (zero-COVID) และหากผู้ใดฝ่าฝืนหรือท้าทายนโยบายของรัฐ จะโดนลงโทษหนัก การล็อกดาวน์เมืองใหญ่ในจีน ส่งผลกระทบต่อวงจรการผลิตหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งธุรกิจบริการ อาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ประจำวันของประชาชน
หุ้นบริษัทชั้นนำของจีน ที่ลิสต์ในตลาดหุ้นอเมริกาหลายบริษัท โดนยื่นคำขาดให้เวลาไม่เกินสามปี ปรับระบบการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานของอเมริกัน หากขาดความโปร่งใสจะโดนขับออก
จีนกับอเมริกาน่าสนใจในประเด็นเรื่องขนาดของเศรษฐกิจ จะจีนจะตามทันและใหญ่กว่าอเมริกาภายในอีกไม่กี่ปี (8-12ปี?) เนื่องจากประชากรของจีนมากกว่าอเมริกาหลายเท่า หากรายได้ประชากรต่อหัวของจีน เพิ่มขึ้นเป็นแค่ครึ่งเดียวของประชากรต่อหัวของอเมริกา จีนจะกลายเป็นอันดับหนึ่งทันที ขั้นต่อไปคือเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่กว่าอเมริกาหนึ่งเท่าหรือมากกว่านั้น
ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันราคาแนวโน้มเพิ่มขึ้น ความรุนแรงของสงครามในยูเครนยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง และมีทีท่าจะหาที่สรุประยะสั้นไม่ได้ ความขัดแย้งครั้งนี้ยังเป็นสิ่งที่ประมาทไม่ได้
สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนทั่วโลกลดวูบไป ทั้งที่ราคาหุ้นของบริษัทที่บริหารดีและมีอนาคตสดใสนั้น ตอนนี้น่าซื้อมาก หากใครมีเงินสดอยู่ในมือ ควรเลือกซื้อเฉพาะเจาะจงบริษัทที่ตั้งเป้าหมายไว้
ถือเงินสดไว้หรือฝากธนาคารก็เหมือนยอมสูญเสียกำลังการซื้อ 8-9% ต่อปี เพราะนั่นคือเงินเฟ้อโดยประมาณ ลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ แม้น่าสนใจแต่หลายคนเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่อง ขายบ้านและที่ดินใช้เวลานาน ตลาดหุ้นจึงยังเป็นสิ่งดึงดูดแนวหน้าต่อไป
สมัยนี้ดัชนีขึ้นลงรุนแรงในแต่ละวัน แทบไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจของแต่ละบริษัท แต่เป็นผลกระทบโดยตรงจากข่าวสารที่แพร่เร็ว และการรีบร้อนซื้อขายโดยมนุษย์ที่จิตใจไม่หนักแน่น หรือแม้กระทั่งสมองกลที่ซื้อขายโดยอัตโนมัติ
นักลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน และไม่สามารถจะรอได้ ก็อาจต้องยอมขายหุ้นขาดทุนระยะนี้ไปบ้าง แต่หากผู้ใดอดทนได้หนึ่งถึงห้าปี ผลตอบแทนน่าจะคุ้มค่า โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทซึ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยหาสิ่งแปลกใหม่ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ
อนาคตเรากำหนดไม่ได้ แต่หากย้อนดูอดีตแล้วใช้เป็นแนวทาง ยกตัวอย่างของบริษัทที่มีผลงานยอดเยี่ยม ในการใช้ดิจิตัลเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริการ ผลตอบแทนห้าปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
หากเราลงทุนกับบริษัทต่อไปนี้เมื่อห้าปีที่แล้ว ผลตอบแทนก็คือ
Apple 335%, Google 152%, Amazon 151%, Microsoft 304%, Tesla 1,292%
ผมเองปรับแต่งพอร์ตฟอลิโอตอนนี้บ้าง ขายหุ้นบางบริษัทที่ผู้บริหารหรือนโยบายเปลี่ยน และใช้เงินกลับเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่มีความศรัทธาสูง ที่สำคัญคือเราอย่าลืมเรื่อง ESG (environmental, social & governance) ของบริษัทเหล่านี้ครับ