“3E ” กับ “วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
บทความวันนี้ เขียนขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึง “ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์” จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 188 ศพ อันทำให้ “วันที่ 10 พฤษภาคม” ของทุกปีถือเป็น “วันความปลอดภัยแห่งชาติ” ตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้
บทความวันนี้ เขียนขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึง “ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์” จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 188 ศพ อันทำให้ “วันที่ 10 พฤษภาคม” ของทุกปีถือเป็น “วันความปลอดภัยแห่งชาติ” ตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้
ปัจจุบัน แม้ว่ากฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของ “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม” ในบ้านเราจะมีมากมายหลายฉบับ และมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ปัญหาเรื่อง “อุบัติเหตุอันตราย” ก็ยังเป็นข่าวให้ได้เห็นได้ยินกันบ่อยๆ และดูเหมือนสถิติจะไม่ลดลงด้วย
โดยเฉพาะ อุบัติเหตุอันตรายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุบนท้องถนน จากงานก่อสร้าง หรือ ในโรงงานอุตสหกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ที่ทำงานเท่านั้นที่เดือดร้อน บาดเจ็บ พิการ หรือตาย แต่ยังรวมถึงชุมชนและผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุก็อาจจะเดือดร้อนไปด้วย
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เอง ก็มีข่าวอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตแพร่กระจายในโซเชียลดังที่พาดหัวข่าวว่า “นายช่างขึ้นเสาไฟถอดอุปกรณ์ โดนไฟดูดตัวไหม้ดับสลดคาเสา” เนื้อข่าวระบุว่า “เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 มีพนักงานการไฟฟ้า ปีนขึ้นเสาไฟฟ้าเพื่อทำการย้ายอุปกรณ์ได้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิตบนเสาไฟฟ้า ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งมีความสูงประมาณ 10 เมตร
เสาไฟฟ้าต้นที่เกิดเหตุเป็นลักษณะเสาไฟฟ้าเมน 2 ต้นตั้งคู่กัน โดยมีลักษณะใช้เป็นตัวตัดต่อไฟฟ้าแรงสูง เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าและอาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ต้องขึ้นบนรถกระเช้า เพื่อทำการตัดกระแสไฟฟ้า ก่อนจะนำร่างผู้เสียชีวิตลงมาได้
จากการสอบถาม ทราบว่า ผู้ตายและเพื่อนร่วมงานได้รับคำสั่งให้ถอดอุปกรณ์ไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้าในจุดดังกล่าว เพื่อทำการเดินสายส่งไฟฟ้าใหม่ สาเหตุคาดว่าช่วงที่ผู้ตายปีนขึ้นไปตัดไฟฟ้า อาจพลาดเลยทำให้โดนกระแสไฟฟ้าแรงสูงดูด แล้วเกิดเพลิงไหม้จนเสียชีวิตดังกล่าว...”
ด้วยความเคารพในผู้เสียชีวิต เรื่องนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าศึกษาและเรียนรู้อย่างยิ่งว่า “ทำไมเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขี้นได้ (อีก)” จึงต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุ เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายเช่นนี้ซ้ำอีกในอนาคต
ขณะเดียวกัน คำถามต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย อาทิ ผู้ปฏิบัติงานรู้ถึงวิธีการทำงานอย่างปลอดภัยหรือไม่ งานลักษณะนี้ต้องเป็นระบบทำงานคู่แบบ Buddy System หรือไม่ ผู้ปฏิบัติงานได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเพียงพอหรือไม่
ทำไมหัวหน้างานหรือผู้ควบคุมงานอนุญาตให้ทำงานที่เสี่ยงมากขนาดนี้ได้ มีการตรวจทานและทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ถูกต้องครอบคลุมหรือไม่ มาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีหรือไม่ และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อการทำงานอย่างปลอดภัย เป็นต้น
อีกหนึ่งวันต่อมา คือวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ก็มีคลิปเล็กๆ ว่อนโซเชียลว่า มีชาวต่างชาติได้อัดคลิปนี้ไว้ได้ที่บริเวณงานก่อสร้างแห่งหนึ่ง ดูจากคลิปแล้วน่าหวาดเสียวมาก เพราะมีคนงาน 3 คนยืนทำงานบนไม้กระดานแผ่นเดียว
จึงเกิดเคำถามเรื่องความปลอดภัยในการทำงานบนตึกสูงว่า ถ้าไม้กระดานหักแล้วคนตกลงมาบาดเจ็บหรือตาย จะถามหาความรับผิดชอบจากใครได้บ้าง หลังจากเพจดังก็มีคนเอามาแชร์ต่อ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายตามมา
ข่าวที่เป็นกรณีศึกษาได้ทั้ง 2 กรณีข้างต้นนี้ จึงเป็นไปได้ทั้งกรณีที่เกิดจาก “พนักงานปฏิบัติงานอย่างไม่ปลอดภัย” (Unsafe Acts) และ “สภาพแวดล้อม (สภาพที่ทำงาน) ที่ไม่ปลอดภัย” (Unsafe Conditions)
ว่าไปแล้ว ทุกวันนี้บ้านเรามีกฎหมายจำนวนไม่น้อยที่กำหนดให้สถานที่ทำงานต้องปลอดภัยต่อการทำงานของลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดเตรียมอุปกรณ์และมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ ให้พร้อม รวมทั้งต้องมีผู้กำกับและควบคุมดูแลการทำงานอย่างปลอดภัยด้วย
อาทิ “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย วิศวกรความปลอดภัย ผู้บริหารระดับสูง หรือ เจ้าของกิจการ” และต้องบริหารจัดการความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังมีการบาดเจ็บพิการและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอันตรายให้เห็นเนืองๆ
ในความเป็นจริงแล้ว วิธีการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์ถึงอันตรายและผลร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราสามารถสังเกตหรือมองเห็นและทำการควบคุมหรือป้องกันล่วงหน้าได้ด้วย (ปัญหาคือ ไม่มีใครใส่ใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง)
โดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยจะเป็นพฤติกรรมปกติของคนทั่วไป ที่มักง่ายกับการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารและผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัย (วิศวกรความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย)
ก็คือ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถทำงานแบบเสี่ยงๆ หรือทำงานแบบไม่ปลอดภัยอีกต่อไป (คือ ต้องเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องทำงานอย่างปลอดภัยหรือมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยเท่านั้น)
และที่สำคัญก็คือ การศึกษาเรียนรู้จากจาก “มาตรฐานความปลอดภัย” ที่ยอมรับกัน หรือ “กฎหมาย” ในเรื่องนั้นๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจริงจังให้เกิดความปลอดภัยต่อการทำงาน
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ “หลักการ 3E” อันได้แก่ Engineering Education และ Enforcement ยังคงใช้ได้ผลเสมอ แต่ต้องสอดคล้องกับ “วัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” (Safety Culture) ที่เกี่ยวกับวิธีคิดวิธีทำงานและวิถีชีวิตที่ยึดมั่นในเรื่องของ “Safety First” ทั้งในระดับองค์กรและระดับอินเตอร์ ครับผม !