ปรับพอร์ตฟอลิโอต้อนรับความเสี่ยงตลาดขาลง
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สำคัญๆ ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์หลายๆ แห่ง ได้มีการพูดถึงภาวะ Bear Market ที่กำลังจะมาถึง โดยหากลองมองย้อนหลังในช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา
หากยึดว่าการปรับลดลงน้อยกว่า 20% คือการปรับฐาน (Correction) และมากกว่า 20% ตลาดหมี (Bear Market) จะพบว่านับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะตลาดหมีทั้งหมด 5 ครั้ง โดย 2 ครั้งเกิดในช่วงวิกฤติฟองสบู่ดอทคอมในช่วงปี 2000 ถึง 2002 และ 2 ครั้งในช่วงปี 2007 ถึง 2009 จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจาก Inverted Yield Curve และปัญหาวิกฤติซับไพร์ม ตามลำดับ และครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2020 จากเรื่องของ COVID-19
โดยตลาดหมีสามารถกินเวลาต่อเนื่องตั้งแต่ 33 วันไปจนถึง 546 วัน ในขณะที่ในรอบนี้หากนับจากจุดสูงสุดในช่วงต้นปีมาจนถึงปัจจุบันกินเวลาไปแล้วราว 130 วัน (3 ม.ค. 65 จนถึง 13 พ.ค. 65) และดัชนี S&P500 ปรับลดลงแล้ว 18% ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการปรับตัวในรอบนี้จะจบลงที่ไหน และจะกินระยะเวลานานเพียงใด อาจจะประเมินได้ยาก เนื่องจากปัจจัยกดดันหลักอย่างเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ตลาดการเงินยังคงผันผวนและอาจต้องกินเวลาอีกซักระยะเวลาหนึ่งก่อนจะเห็นภาพมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงต่อของพอร์ตฟอลิโอปรับเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยความเสี่ยงของการลงทุนทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วยความเสี่ยงจากหลายส่วนประกอบกัน เช่น ความเสี่ยงจากตัวสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน อุตสาหกรรม สภาพคล่อง รวมถึงน้ำหนักการลงทุน เป็นต้น หากพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ จะทำให้เราสามารถลดทอนความเสี่ยงที่ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินในปัจจุบันลงได้ จากการปรับปรับน้ำหนักการลงทุน การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สไตล์ของการลงทุน เป็นต้น ซึ่งแนวทางในการปรับพอร์ตฟอลิโอต้อนรับความเสี่ยงของตลาดขาลงมีอะไรบ้าง วันนี้เราของมาพิจารณากันครับ
- ปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์
การปรับลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตร เป็นทางเลือกมาตรการในภาวะที่ความเสี่ยงจากปัจจัยพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น แม้ในปัจจุบันอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากทั้งหุ้นและพันธบัตรให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้ อย่างไรก็ตามตลาดพันธบัตรนั้นมีทางเลือกที่หลากหลาย เราอาจจะเน้นไปที่การลดความเสี่ยงด้วยการเน้นลงทุนในพันธบัตรอายุสั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยงได้ เป็นต้น
- ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมลงทุนและแนวทางในการลงทุน
หากเรายังต้องการคงน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นเนื่องจากคุ้นเคยดีกับความเสี่ยงในช่วงขาลง สิ่งที่สามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงก็ยังมีเช่นกัน เช่น การปรับลดน้ำหนักจากอุตสาหกรรมที่ทำได้ดีในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) มาเป็นกลุ่มสินค้าคงทุน (Consumer Staples) กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) หรือบางส่วนของกลุ่มสุขภาพ (Healthcare) เป็นต้น
หรืออาจมีการปรับเปลี่ยนสไตล์ของการลงทุน เช่น ลดน้ำหนักหุ้นเติบโต (Growth) หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพิ่มน้ำหนักหุ้นคุณค่า (Value) หรือหุ้นกลุ่มคุณภาพ (Quality) ต่างๆ ที่น่าจะมีความผันผวนน้อยกว่า และสอดคล้องกับความไม่แน่นอนที่สูงอยู่ในปัจจุบันมากกว่า หรือการหันกลับมาลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และลดการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กลงเป็นต้น ทำให้แม้จะยังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้น แต่ความเสี่ยงโดยรวมก็อาจจะปรับลดลง
- ลดความเสี่ยงของกองทุน
การลดความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น อาจจะเน้นลงทุนในกองทุนที่มีการกระจายตัวของการลงทุนมากกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัว (Concentration) การเปลี่ยนจากกองทุนแบบ Active Fund เป็น Passive Fund เพื่อลดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและเน้นผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับตลาดไปสักระยะเวลาหนึ่ง หรือแม้แต่ปรับการลงทุนจากเน้นลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะเป็นการลงทุนในกลุ่มภูมิภาค (Region) การเลือกกองทุนที่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่อาจจะต้องลงทุนแม้ในช่วงตลาดที่เราคาดว่าจะเป็นขาลงไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากการคาดการณ์เวลาของการฟื้นตัวนั้นอาจจะทำได้ยาก ทำให้เราอาจจะลงทุนแต่ปรับลดความเสี่ยงตามความเหมาะสม (Stay Invest) เพื่อที่ว่าเมื่อตลาดฟื้นตัวพอร์ตการลงทุนของเราก็จะฟื้นตัวตาม และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็สามารถช่วยให้เราลดความเสี่ยงได้เช่นกัน
การลงทุนในปัจจุบันมีทางเลือกที่หลายหลาก โดยในช่วงตลาดขาลงเราไม่ควรจะปิดจอแล้วเลิกติดตามพอร์ตฟอลิโอของเรา แต่สิ่งที่เราควรทำคือการติดตามภาวะตลาดการเงินอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อประเมินความเสี่ยงตลอดเวลา ทำให้เราสามารถปรับพอร์ตได้อย่างทันท่วงที โดยการปรับพอร์ตฟอลิโออย่าลืมคำนึงถึงต้นทุนในการทำธุรกรรมต่างๆ ประกอบด้วยครับ .. สุดท้ายยังหวังว่าตลาดการเงินจะกลับมาฟื้นตัวไว ตลาดหมีกินระยะเวลาไม่นาน และทำให้พอร์ตฟอลิโอของทุกท่านปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด