โจทย์ใหญ่ให้คิดกันในวันที่เด็กๆ กลับเข้าชั้นเรียน | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

โจทย์ใหญ่ให้คิดกันในวันที่เด็กๆ กลับเข้าชั้นเรียน | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

สัปดาห์แรกของการเปิดเทอม เด็ก ๆ ได้มาเรียนหนังสือแบบเจอหน้าเจอตากันอีกครั้ง ผลกระทบสำคัญของการห่างหายจากชั้นเรียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงแค่การเรียนรู้ถดถอย

แต่พัฒนาด้านอื่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงมีความท้าทายสารพัดที่รออยู่ในห้องเรียน ห้องผู้บริหารของโรงเรียน รวมถึงห้องทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กไทยทุกคน โจทย์ใหญ่ร่วมกันที่น่าจะต้องคิดให้ตกแล้วลงมือทำให้เร็วที่สุดมีอยู่ 6 เรื่อง

1.การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษา 
เป้าหมายของการจัดสรรก็เพื่อช่วยให้การกลับคืนสู่ชั้นเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถเยียวยาความสูญเสียด้านการเรียนรู้และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงยกระดับพัฒนาการของเยาวชนในทุกด้านอย่างเหมาะสม เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและเด็กมีความแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นด้านรายจ่ายในการศึกษา 

ด้วยเหตุนี้ มาตรการการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อเยียวยาเด็ก จึงควรปรับให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับครัวเรือน เริ่มด้วยการประเมินความต้องการขั้นต่ำที่จะทำให้พวกเขาสามารถกลับมาอยู่บนเส้นทางของการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับช่วงวัยได้โดยเร็วที่สุด 

การช่วยเหลือจึงไม่ควรเป็นรูปของตัวเงินเพียงอย่างเดียว การช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ การช่วยเหลือด้านการประเมินและให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองและตัวของเด็กเอง ในประเด็นต่าง ๆ อย่างทั่วถึง พอเพียง และทันเวลาโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านก็มีความจำเป็นเช่นกัน 

2. การประเมินระดับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนให้ครอบคลุมทุกด้าน 
การประเมินนี้จะช่วยให้โรงเรียนและครอบครัวมีข้อมูลว่า เยาวชนแต่ละคนได้รับผลกระทบในด้านการเรียน อารมณ์ ทัศนคติ และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการในระดับใด ซึ่งจะนำไปสู่การจัดกลุ่มเยาวชนตามระดับและลักษณะผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบชุดการช่วยเหลือ (Student recovery package) ที่เหมาะสมต่อไป

 3. การวิเคราะห์ช่องว่างความสามารถของโรงเรียนในการจัดการศึกษาเพื่อฟื้นฟูความสูญเสียที่เกิดขึ้น 
โรงเรียนและบุคลากรด้านการศึกษาต่างก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้เช่นกัน ทรัพยากรทางการศึกษาขาดการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และอาจไม่เพียงพอกับการที่ต้องเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนให้เร็วที่สุด

ภาวะคอขวดด้านทรัพยากรทางการศึกษาจะส่งผลต่อความสามารถของสถานศึกษาในการให้ความช่วยเหลือต่อนักเรียน ทั้งยังกลายเป็นข้อจำกัดในการจัดการเรียนรู้ 

โจทย์ใหญ่ให้คิดกันในวันที่เด็กๆ กลับเข้าชั้นเรียน | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

บุคลากรทางการศึกษาเองก็มีความจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ใหม่ให้เหมาะสมกับเป้าหมายในการฟื้นฟูและพัฒนาเยาวชน เนื่องจากสถานศึกษาแต่ละแห่งมีความแตกต่างของระดับช่องว่างระหว่างทรัพยากรและบุคลากรทางการศึกษาที่มีกับที่ควรมี การวิเคราะห์ช่องว่างระดับโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้สามารถจัดชุดความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ (School recovery package)

4. กลไกในการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน 
ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรและบุคลากรทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประกอบกับกระบวนการจัดสรรงบประมาณที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ การจะรอการจัดสรรเพียงอย่างเดียวต้องใช้เวลานาน แนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ คือ การจัดตั้งกลุ่มโรงเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรทางการศึกษาและบุคลากรระหว่างกัน (School Cluster Resource Sharing) 

การจัดกลุ่มอาจไม่จำเป็นต้องให้เกณฑ์ด้านภูมิภาค เนื่องจากกิจกรรมบางอย่างสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ เช่น การแลกเปลี่ยนครูผู้สอน หรือเนื้อหาที่ใช้ในการสอน เป็นต้น 

5. ประเมินความสำเร็จของการเรียนรู้ด้วยระดับพัฒนาการไม่ใช่ประเมินด้วยเกรด 
ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อพัฒนาการของเยาวชนในทุกมิติ ด้วยเหตุนี้ การประเมินผลสำเร็จในการฟื้นฟูการสูญเสียในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่ควรใช้คะแนนหรือเกรดมาเป็นตัววัด แต่เป็นการประเมินพัฒนาการของเยาวชนที่ได้รับการฟื้นฟูเทียบกับระดับพัฒนาการที่เหมาะสมของช่วงวัยเป็นหลัก 

6. การพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลแบบ Actionable Intelligence Platform 
ในช่วงปี 2565 ถึง 2567 จะเป็นช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายด้าน ทั้งในด้านเศรฐกิจ สังคม การเมือง และสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความสำเร็จต่อมาตรการในการฟื้นฟูเยาวชน (และแรงงานนอกระบบ) ด้วยเหตุนี้การมีระบบติดตามประเมินผลแบบ Actionable Intelligence Platform จึงมีความจำเป็นและเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาใช้โดยเร็วที่สุด

ภาพที่เห็นนักเรียนตัวน้อยเดินเข้าโรงเรียน อาจทำให้รู้สึกว่า ตอนนี้เหตุการณ์กลับเป็นปกติแล้ว การการจัดการเรียนรู้ก็จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งนี้ หากพิจารณาข้อเสนอแนะทั้ง 6 ข้อข้างต้นจะพบว่าความจริงแล้วไม่มีอะไรที่ปกติเลย ถ้ายังใช้กรอบคิดเดิมอยู่ แม้ว่าโควิดจะหายไป ร่องรองความเสียหายที่มีต่อเด็กก็ยังจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต


หมายเหตุ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “โครงการวิเคราะห์สถานการณ์ของเยาวชนและแรงงานนอกระบบ” ที่ผู้เขียนได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 

โจทย์ใหญ่ให้คิดกันในวันที่เด็กๆ กลับเข้าชั้นเรียน | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์