วิกฤติซ้อนวิกฤติ ต้องเป็นมิตรกับทุกฝ่าย
18 พ.ค. ค.ศ. 2022 ดาวโจนส์ร่วงอีกกว่า 1,100 จุด บริษัทขายปลีกยักษ์ใหญ่เช่น Walmart กับ Target รายงานผลกำไรต่ำกว่าความคาดหวังของนักวิเคราะห์
ทำให้เกิดความหวั่นไหว นักลงทุนอเมริกันขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ กลัวว่าผู้บริโภคจะเริ่มประหยัด ลดการใช้จ่าย เงินเฟ้อ สินค้าแพง น้ำมันราคาสูงขึ้น
เมื่อผู้บริโภครัดเข็มขัด ตลาดหุ้นก็เดาว่าบริษัทต่างๆ เหล่านี้จะทำยอดขายลดลง กำไรน้อยลง จึงส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงด้วย
ถ้าดูที่ดาวโจนส์ สถาบันเก่าแก่ที่สุดในวงการหุ้นอเมริกัน ซึ่งรวบรวมตัวเลขของบริษัทเสาหลัก 30 แห่ง นับตั้งแต่ต้นปีมามูลค่าหุ้นร่วงไปแล้ว 14.57% นักลงทุนมืออาชีพในตลาดหุ้นตั้งตัวแทบไม่ติด หลายคนเริ่มท้อใจ เมื่อไหร่หุ้นจะฟื้น หรือจะร่วงต่อไปอีกตลอดซัมเมอร์นี้
ปัญหาใหญ่รุมเร้ามาพร้อมกัน ทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขยับสูงขึ้น สงครามในยุโรป และการล็อกดาวน์ในจีนซึ่งกระทบซัพพลายเชน ทำให้สินค้าบางอย่างส่งมอบไม่ตรงเวลา กระทบการผลิตและประกอบสินค้า โรงงานหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักเพราะรอชิ้นส่วน
อเมริกามีปัญหาคือขาดคนงานถึง 11,000,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงาน 3.6% เท่านั้น โควิดทำให้หยุดงาน ปรับตัวใหม่ วิสัยทัศน์เปลี่ยน
จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจอันดับสอง ยังมุ่งมั่นกับนโยบายเข้มงวดต่อต้านโควิด ยอมเจ็บตัวระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว จีนเป็นประเทศเดียวที่เดินแนวนโยบายนี้ ท่ามกลางเสียงบ่นพึมพำ และการประท้วงจากประชาชนหลายแห่ง ทั้งแจ้งและลับ การสื่อสารออนไลน์ทำให้ชาวจีนรู้ว่าทุกแห่งนอกจีนนั้น ปรับตัวรับมือกับโควิด “แบบยอมสู้แม้เสี่ยง”
นโยบาย ทำดีให้สังคม กำชับกวดขันบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ให้บริหารด้วยความโปร่งใส หลายบริษัทต้องปรับนโยบายและวัฒนธรรมภายในองค์กร เปลี่ยนตัวผู้นำ และออกกฎใหม่เพื่อสนองตอบทิศทางของภาครัฐ ธุรกิจที่มีแนวฟุ่มเฟือย กระตุ้นความบันเทิง ขาดสาระ ไม่เป็นสิ่งจำเป็นในสังคม เกิดการชะลอและชะงัก การผลิตและบริการกำลังปรับตัว ทำให้เกิดการลดจำนวนพนักงานพร้อมกันหลายแห่ง
กำลังการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในจีนเริ่มลดลง รัฐบาลประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้น (19 พ.ค.) ตลาดหุ้นเอเชียขานรับด้วยความดีใจ หุ้นในเอเชียขยับขึ้น
ประธานาธิบดีใบเดนเดินทางไปเอเชียวันที่ 20-21 พ.ค. เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์กับพันธมิตรหลัก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นได้เชิญผู้นำอาเซียนร่วมประชุมที่ทำเนียบขาว นโยบายของรัฐบาลอเมริกันชุดนี้ เห็นชัดในความต้องการรักษาความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยมีประเด็นหลักคือย้ำเตือนให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย เกิดความกลัวและระแวงต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพิ่มขีดความสามารถในการรุกและขยายเศรษฐกิจ ความมั่นคง และอิทธิพลของจีน
อีกประเด็นที่สำคัญที่อเมริกาจะพยายามชักชวนและโน้มน้าว ให้ประเทศในเอเชียสนับสนุนนโยบายของตน ก็คือเรื่องการปิดกั้นคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรตะวันตกเห็นพ้องว่า เป็นอันตรายต่อความมั่นคงในยุโรปและระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก
สถานการณ์ในยูเครนแม้จะเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว ชาวยูเครนที่ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตก เริ่มทยอยกลับภูมิลำเนา เมืองหลวงของยูเครนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนสงคราม แต่สถานการณ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนยังอยู่ในขั้นวิกฤติ และยังประมาทไม่ได้ หากความขัดแย้งนี้เกี่ยวข้องกับนาโต้ อาจกดดันให้ผู้นำรัสเซียใช้อาวุธอันตราย สงครามที่ขยายวงกว้างจะเป็นตัวแปรที่ทำลายความมั่นใจต่อการลงทุน และสะเทือนเศรษฐกิจโลกอย่างเฉียบพลัน
จีนส่งสัญญาณเตือนสหรัฐเรื่องไต้หวันและนโยบายล้อมจีน จีนตอบโต้ด้วยการทูตและแผ่วัฒนธรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลมีเดีย ร้องทุกข์สายตรงต่อประชาชนชาวเอเชียทั้งหลาย
ผู้นำชาวเอเชียแม้จะโดนกดดันจากสองมหาอำนาจนี้ ควรวางตัวให้เหมาะสม รับฟัง ร่วมมือ ประสานงานทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ด้วยความหนักแน่นชาญฉลาด ไม่เห็นผลประโยชน์ระยะสั้น และไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายตามแรงกดดัน หรือผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคการเมือง
แนวโน้มในระยะสั้นนั้น อเมริกาและจีนน่าจะทำสงครามการค้าต่อเนื่องไปอีก แต่ทั้งสองมหาอำนาจนี้ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ยังค้าขาย แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีต่อเนื่องอีกหลายอย่าง ปริมาณการซื้อขายสินค้าระหว่างสองประเทศไม่ได้ลดลงเลย
หากสองมหาอำนาจนี้สามารถปรับตัว เปลี่ยนจากการปะทะกันมาเป็นการแข่งขัน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น
โอกาสอาจจะมาถึงแล้ว ที่ประชาคมโลกร่วมกันสร้างสันติภาพ สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจนั้น อาจเริ่มต้นที่ประเทศในเอเชีย ซึ่งทั้งสองมหาอำนาจนี้ให้ความสำคัญมาก หรือแม้กระทั่งไทยก็อาจจะเริ่มได้ด้วยการทำเป็นตัวอย่าง การเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ไทยทำได้เพราะไทยทำมาโดยตลอดแล้ว