แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed...นัยต่อการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ
ประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดขนาดงบดุล (runoff) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกเป็นอย่างมาก
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (UST Yield) อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 3.1% จาก 1.6% เมื่อตอนต้นปี ขณะที่ อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real Yield) ก็เพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500 Index) ปรับลดลงกว่า 17% นับตั้งแต่ต้นปี
SCB CIO ประเมินว่า ในกรณีฐาน ที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่สูงสุดในไตรมาสที่ 1 และจะเริ่มปรับลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เราคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ทั้งในการประชุมเดือน มิ.ย. และเดือนก.ค. แล้วจึงปรับขึ้นอีก 0.25% ในทุกๆ การประชุมที่เหลือของปี (เดือน ก.ย. พ.ย. และ ธ.ค.)
รวมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดในปีนี้ 2.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed fund สิ้นปี 2022 อยู่ที่ 2.50-2.75% และหากอิงตามแผนการทำ runoff ที่ Fed เปิดเผยในการประชุมเดือนเม.ย. Fed จะเริ่มทำ runoff ในเดือน มิ.ย. โดยเริ่มต้นบนพันธบัตรสหรัฐฯ (UST) และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ที่ 30 และ 17.5 พันล้านดอลลาร์ ต่อเดือน ตามลำดับ
แล้วจึงปรับขึ้นสู่เพดานการทำ runoff สูงสุด ที่ 60 และ 35 พันล้านดอลลาร์ ต่อเดือน ตามลำดับ โดยอาจใช้เวลาในการทำ runoff ราว 3 ปี อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย ที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังเร่งตัวต่อเนื่อง ตามปัญหาห่วงโซอุปทานที่ยืดเยื้อ จากการ lockdown ในจีน และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากผลของสงครามยูเครน ซึ่งเรามองมีโอกาสเกิดต่ำกว่ากรณีฐาน ในกรณีดังกล่าว
เราประเมินเบื้องต้นว่า Fed จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ทั้งในการประชุมเดือน มิ.ย. ก.ค. และก.ย. ขณะที่ ขนาดการขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ จะขึ้นอยู่กับว่า เงินเฟ้อชะลอลงหรือไม่ นอกจากนี้ เราคาดเบื้องต้นว่า ในกรณีเลวร้ายนี้ Fed จะปรับเพดานสูงสุดการทำ runoff ขึ้น จากแผนการเดิมที่วางไว้
แม้ว่า Fed มีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และเริ่มการทำ runoff ตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่เรามองว่า UST yield อายุ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่มากนัก และอาจค่อยๆ ลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจาก
- ในปัจจุบัน ตลาดคาดการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปค่อนข้างมาก โดยคาดว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมกว่า 1.5% ในการประชุม 3 ครั้งถัดไป (เดือน มิ.ย. ก.ค. และก.ย.) ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จึงมีโอกาสต่ำที่จะสร้างความตื่นตระหนกกับตลาดการเงินสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
- เงินเฟ้อ และ GDP สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นปัจจัยที่ชะลอการเพิ่มขึ้นของ UST yield โดยเราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะอยู่ในระดับการเร่งตัวขึ้นสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ และ GDP สหรัฐฯ จะทำจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 สอดคล้องกับที่ consensus คาดการณ์ไว้ล่าสุด
- เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์สหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลดลงได้หลังจากนี้ ซึ่งจะช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของ UST yield
สำหรับนัยต่อการลงทุน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed หลังจากนี้ เรามองว่า จะส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ จำกัด เนื่องจาก ภายหลังจากที่ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางระยะยาว (long run neutral rate) อยู่ที่ 2.25-2.50% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้แล้ว ทิศทางและขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หลังจากนั้น จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนบนทั้งตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ
นอกจากนี้ งบดุลของบจ.ใน S&P500 ค่อนข้างแข็งแกร่ง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากการที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้ โดยอัตราส่วน Net debt to EBITDA ของบจ.ใน S&P500 ล่าสุด อยู่ที่ 1.1 เท่า ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการเงินในปี 2008 ประกอบกับบจ.ใน S&P500 ไม่รวมกลุ่มการเงิน ยังมีสัดส่วนหนี้สินที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 11% ของหนี้ทั้งหมด
ดังนั้น โดยรวมเรายังคงมุมมอง Neutral บนตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการที่ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มผันผวนในช่วงที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 กลุ่ม Value จะได้รับปัจจัยหนุน จากการเพิ่มขึ้นของ UST Yield และ GDP สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่สูงสุด รวมทั้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่สูง
สำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี กลุ่ม Quality Growth อย่างเช่น กลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่มีระดับราคา และ valuation เริ่มสมเหตุสมผลมากขึ้น มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากลุ่ม Value และตลาดฯ โดยรวม เมื่อความผันผวนในตลาดตราสารหนี้เริ่มน้อยลง UST yield อายุ 10 ปี มีแนวโน้มเริ่มทรงตัวและพักฐาน และ เมื่อตลาดเริ่มกังวลต่อแนวโน้ม GDP ของสหรัฐฯ มากขึ้น