ฉากทัศน์ข้าวไทยในอนาคต | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ในยุคที่โรคโควิด 19 ระบาดแล้วยังซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานเพิ่มขึ้น เพราะสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย เราคงหนีไม่พ้นที่จะเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพงที่แท้จริง
แม้อาหารจะขึ้นราคาไปเป็นแผง แต่ประเทศไทยก็ยังโชคดีที่ผลิตข้าวได้เหลือกิน แม้ราคาจะขึ้นบ้างก็ไม่มากนับว่ายกให้เกษตรกรไป อย่างไรก็ดี สถานภาพของประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ก็ถดถอยมาทุกปีในขณะนี้เป็นลำดับ 6 แล้ว (USDA, Apr. 2022)
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม และอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้มีการเสวนากันเรื่องฉากทัศน์อนาคตข้าวไทย โดยมี รศ. ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เป็นหัวหน้าโครงการ งานจัดที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
งานนี้เชิญผู้รู้ในวงการทั้งผู้ปฏิบัติจริงมาร่วมกันมองอนาคตของข้าวไทย ลองมาดูว่าผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มองฉากทัศน์ในอนาคตของข้าวไทยว่าเป็นอย่างไร
เริ่มต้นด้วยสถานภาพปัจจุบัน ประเทศไทยมีชาวนาประมาณ 3.45 ล้านครอบครัว มีพื้นที่ทำนา 57 - 65 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานเพียง 10 ล้านไร่ จำนวนผลผลิตรวมทั้งนาปีและนาปรังประมาณ 35- 40 ล้านตันข้าวเปลือก ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ 1.4 ล้านตัน
สีเป็นข้าวสารราว 20 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศ 10 ล้านตันข้าวสาร ส่วนที่เหลือส่งออกไปขาย ไทยเคยส่งออกข้าวสารสูงสุดประมาณ 10 ล้านตัน แต่ปัจจุบันนี้ลดลงมาเรื่อยๆ เหลือ 6-7 ล้านตันแล้ว เพราะสู้ราคาของคู่แข่งคืออินเดียและเวียดนามไม่ได้
พื้นที่ปลูกข้าวของไทยมีสองแหล่งใหญ่คือ พื้นที่ในภาคอีสานซึ่งไม่มีระบบชลประทาน ปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวไวแสงและข้าวเหนียว กลุ่มที่สองคือพื้นที่ภาคกลาง ผลิตข้าวหอมและข้าวขาว ผลผลิตเฉลี่ยค่อนข้างสูง
แต่คุณภาพเมื่อหุงต้มสู้ของเวียดนามไม่ได้ ถึงแม้จะมีระบบชลประทาน แต่ก็ใช่ว่าจะจัดสรรน้ำให้เพียงพอได้ทุกส่วน ชาวนาในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน
การผลิตและการค้าข้าวของไทยประสบความท้าทายหลายประการด้วยกัน คือ
1) ความสามารถในการแข่งขันของไทยในการส่งออกถดถอยลงเรื่อย ๆ เพราะต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งตลอดห่วงโซ่การผลิต
2) เกษตรกรสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ โดยอายุเฉลี่ยประมาณ 55 ปี ส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำนาประมาณ 20 ไร่ จึงมีหนี้สินสะสมเป็นดินพอกหางหมูกันเป็นส่วนใหญ่ และทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนในการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้นได้
3) แม้เกษตรกรจะปลูกข้าวมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้น้ำและปุ๋ยที่มากเกินความจำเป็น ใส่ปุ๋ยไม่ถูกเวลาหรือปลูกโดยไม่อาศัยข้อมูลการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา
4) ประการสุดท้ายก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และทำให้เกิดความแปรปรวนในการผลิต และการเปลี่ยนแปลงด้านโรค แมลงและวัชพืชมากขึ้น
ปัจจุบันรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งรวมทั้งเงินงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตข้าวและเงินที่ไปช่วยเหลือในระยะสั้น ได้แก่ การอุดหนุนเงินกู้เกษตรกร ชาวนารวมทั้งยกเลิกหนี้สิน ในระยะสั้น การส่งเสริมการผลิต การชลประทาน การให้กู้ยืม การส่งเสริมการส่งออก ซึ่งล้วนเป็นนโยบายที่มีลักษณะประชานิยมมากขึ้น
เพราะการขับเคี่ยวทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง ทำให้นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเป็นนโยบายการเมืองจึงมีลักษณะเป็นนโยบายแจกเงินระยะสั้น ไม่สนใจการสร้างคุณภาพและเพิ่มผลิตภาพ แต่กลับชักจูงให้ประชาชนมาลงทะเบียนเป็นชาวนามากขึ้นเพื่อมารับการอุดหนุน
นโยบายในลักษณะหลังนี้ทำให้การพัฒนาของข้าวไทยถดถอยลงตามลำดับ เพราะเงินที่สนับสนุนในด้านนี้ทำให้การผลิตดีขึ้น เช่น ปลูกข้าวอินทรีย์หรือปลูกเพื่อทดแทนนั้นน้อยกว่าเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ฟรี
ที่ประชุมได้พิจารณาฉากทัศน์ในอนาคต 4 ฉากด้วยกัน ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่มี อาจจะเกิดขึ้นได้ ได้แก่
1) ภาพอนาคตในฉากแรกได้แก่ ชาวนามือถือพึ่งเงินโอนเช่นในปัจจุบัน แต่จะสาละวันเตี้ยลงๆ คือเราก็ยังขายข้าวมวลชนแข่งขันด้วยราคา เกษตรกรยึดติดกับการทำนาโดยใช้ประสบการณ์แบบเดิมๆ
แรงงานอายุน้อยออกจากการทำนา รายได้เกษตรกรไม่เพิ่มขึ้น ภาคเกษตรกลายเป็นภาคเกษตรสงเคราะห์ ปริมาณส่งออกอาจจะเหลือ 3-4 ล้านตันใน 10 ปีข้างหน้า
2) ฉากทัศน์ชาวนาไฮเทคเป็นอนาคตที่ไทยทวงคืนความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง ผลิตข้าวมวลชนคุณภาพดี เป็นเกษตรกรมืออาชีพ เกษตรกรสามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตมีรายได้สุทธิเป็นบวกที่สูงขึ้น เกษตรกรเป็นมืออาชีพสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น
เพราะแนวโน้มรายได้ดีขึ้น ภาคเอกชนและโรงสีเข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพของชาวนา และพัฒนาเทคโนโลยี มีการผลิตเป็นแปลงใหญ่มากขึ้นหรือรวมกลุ่มผลิตมากขึ้น การผลิตมีความแม่นยำมากขึ้น มีการขายแบ่งคุณภาพตามความต้องการของตลาด
3) ฉากทัศน์จิ๋วแต่แจ๋วแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งชาวนาผลิตข้าวคุณภาพดี ฟาร์มมีการรวมแปลงบ้าง แต่ยังมีฟาร์มส่วนใหญ่ยึดมั่นในประสบการณ์การผลิตแบบดั้งเดิม เป็นการผลิตแบบฝีมือประณีตและยั่งยืน ซึ่งไม่สามารถแข่งขันในตลาดมวลชนต่างประเทศ สามารถส่งออกข้าวพิเศษคุณภาพสูงในราคาดี แต่ในวงจำกัดมาก อาศัยตลาดในประเทศเป็นหลัก
4) ฉากทัศน์พันธมิตรผลิตข้าว แปรรูปสร้างสรรค์ ในฉากทัศน์นี้ประเทศไทยผลิตข้าวคุณภาพสูง เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวพิเศษ เช่น ข้าวกล้องหอมมะลิคุณภาพสูง ข้าวสุขภาพที่น้ำตาลต่ำ ข้าวหลากสีที่มี Antioxidant สูง สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในการผลิตได้ทำให้ข้าวเป็น Green product
จำนวนเกษตรกรลดลง มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดการฟาร์ม ชาวนาพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการยกระดับเทคโนโลยีซึ่งตอบโจทย์ของผู้บริโภค
ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มองว่าฉากทัศน์ที่ 4 เป็นฉากทัศน์อันพึงประสงค์ของประเทศไทย แต่ไทยยังมีโอกาสทวงคืนความสำเร็จได้ และขนาดตลาดในฉากทัศน์ที่ 2 ใหญ่กว่า ถ้ามีการปรับโครงสร้างนโยบายสาธารณะและการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐให้มาสู่การผลิตที่ยั่งยืน
ศ.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
การทำงานที่บูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ การทำงานแบบพันธมิตรระหว่างเกษตรกรกับภาคเอกชน และทดลองให้มีแซนด์บอกซ์ของการส่งเสริมภาคเกษตรโดยภาคเอกชน การทดแทนเกษตรสงเคราะห์ด้วยการอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเกษตรประณีต เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปลงใหญ่ที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ ปฏิรูประบบสินเชื่อเกษตร
เมื่อมีเป้าหมาย ทิศทาง และแนวทางแล้ว อย่ามัวรอช้าอยู่เลยค่ะ ทราบแล้วพรรคการเมืองที่ต้องการนโยบายใหม่ รีบประกาศเป็นนโยบายสำหรับการเลือกตั้งที่คาดว่าใกล้จะมาถึง!