หาบเร่แผงลอย โจทย์ท้าทายผู้ว่าฯ ชัชชาติ | ทีดีอาร์ไอ

หาบเร่แผงลอย โจทย์ท้าทายผู้ว่าฯ ชัชชาติ | ทีดีอาร์ไอ

การค้าหาบเร่แผงลอยเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่คู่กทม. มาเป็นเวลานาน เนื่องจากเป็นช่องทางเข้าถึงสินค้าและบริการราคาถูกของประชาชน และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ “สตรีทฟู้ด” ของกรุงเทพฯ ยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม การค้าหาบเร่แผงลอยที่ไร้ระเบียบก็ส่งผลกระทบด้านลบต่อเมืองด้วยเช่นกัน โดยทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย ปัญหาสุขอนามัย ความไม่สะดวกต่อการสัญจรของทั้งคนเดินเท้าและผู้ใช้ถนน ไปจนถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองในภาพรวม

มหานครต่างๆ ในโลกล้วนเผชิญกับปัญหาลักษณะดังกล่าวมาก่อนแทบทั้งสิ้น ซึ่งนำไปสู่การจัดระเบียบการทำมาหากินริมทางสาธารณะ โดยหลายเมืองยังคงเลือกแนวทางการจัดระเบียบอย่างเข้มงวดจนหาบเร่แผงลอยลดน้อยลงกระทั่งหายไปจากทางเท้า แต่ก็มีหลายเมือง เช่น สิงคโปร์ ที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้ทางเท้ากลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้

แนวทางการกำกับดูแลการค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงก่อนสมัยของผู้ว่าฯ อัศวินค่อนข้างผ่อนปรนให้โอกาสผู้ค้าที่มีรายได้น้อย โดยมีจุดผ่อนผันให้ค้าหาบเร่แผงลอยมากมาย จนกระทั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะเจ้าพนักงานจราจรมีคำสั่งยกเลิกจุดผ่อนผันทุกประเภทในปี 2554

จากนั้น กรุงเทพมหานครรวมถึงสมัยของผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งมีนโยบายจัดระเบียบทางเท้าอย่างเข้มงวด ได้ทยอยลดพื้นที่ลงเรื่อยๆ จาก 773 จุดในปี 2554 เหลืออยู่ 171 จุดในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าหาบเร่แผงลอยประมาณหนึ่งหมื่นราย

 

หาบเร่แผงลอย โจทย์ท้าทายผู้ว่าฯ ชัชชาติ | ทีดีอาร์ไอ

(ภาพถ่ายโดย Rizky Rafael)

 

นโยบายหาบเร่แผงลอยที่ประกาศไว้ของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นการปรับทิศทางนโยบายกลับไปที่การผ่อนปรนและเพิ่มจุดผ่อนผันให้โอกาสผู้ค้าด้วยการบริหารจัดการที่ค่อนข้างครอบคลุมในมิติต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงของผู้ค้า และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การจัดหาสถานที่ค้าถาวร รวมทั้งใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเป็นฐานในการขับเคลื่อน 

ถือได้ว่าเป็นชุดนโยบายที่เป็นรูปธรรมและสามารถลงรายละเอียดได้เป็นรายเขต อย่างไรก็ตาม โจทย์และความท้าทายของหาบเร่แผงลอยที่รอผู้ว่าฯ คนที่ 17 ของกรุงเทพฯ อยู่ มีอย่างน้อย 4 ข้อ

 

1. การจัดหาสถานที่ถาวรให้แก่ผู้ค้า (hawker center) อาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ค้าในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากพื้นที่ของเอกชนที่อยู่ใกล้เคียงทำเลเดิมของผู้ค้ามีค่าเช่าที่สูงมาก เช่น เขตจตุจักรและสาทร

มิเช่นนั้นแล้ว การจัดหาสถานที่ถาวรของผู้ว่าฯ คนใหม่ ก็จะซ้ำรอยกับมาตรการเยียวยาผู้ค้าในสมัยผู้ว่าฯ คนก่อน ซึ่งได้จัดหาพื้นที่ขายไว้กว่า 112 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ประมาณหมื่นราย แต่มีผู้ค้าสนใจเข้าร่วมเพียงไม่ถึงพันรายเท่านั้น เหตุผลสำคัญมาจากทำเลการค้าไม่เหมาะสม

 

 

หาบเร่แผงลอย โจทย์ท้าทายผู้ว่าฯ ชัชชาติ | ทีดีอาร์ไอ

(ภาพถ่ายโดย Quang Nguyen Vinh)

 

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของสิงคโปร์ชี้ให้เห็นว่า การจัดหาสถานที่ถาวรให้แก่ผู้ค้าในทำเลที่เหมาะสมนั้นจำเป็นต้องมีการอุดหนุนผู้ค้าในช่วงเริ่มต้นและปรับเป็นอัตราค่าเช่าปกติเมื่อผู้ค้าตั้งตัวได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องเป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยตัวจริงและไม่สามารถจ่ายค่าเช่าในพื้นที่เอกชนได้เอง

 

2. การประสานงานกับเจ้าพนักงานจราจรเพื่อเปิดพื้นที่ทำการค้า เนื่องจากภายใต้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 การเปิดพื้นที่ริมทางสาธารณะให้ทำการค้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ กทม. เพียงคนเดียว แต่ต้องได้รับความเห็นชอบในด่านสุดท้ายจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการพิจารณามักใช้ระยะเวลานานหลายเดือน

วิธีการที่จะช่วยให้เจ้าพนักงานจราจรสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นคือ การพิจารณาเปิดพื้นที่ทำการค้าแบบชั่วคราวให้ผู้ค้าที่สนใจได้ทดลองทำการค้าก่อนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณาเปิดพื้นที่ทำการค้าเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

แต่ที่ผ่านมาการรับฟังความคิดเห็นเป็นการลงมติโดยที่ยังไม่ได้เห็นสภาพการค้าจริง ทำให้มีเพียง 3 จุดจากทั้งหมด 10 จุดที่มีผลการลงมติว่าเห็นด้วยเกินร้อยละ 50 เนื่องจากยังติดภาพกับการค้าหาบเร่แผงลอยแบบเดิม

การเปิดให้ทดลองทำการค้าชั่วคราว นอกจากจะกระตุ้นให้กลุ่มผู้ค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีปฏิบัติของตนเพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้ทางเท้าอื่นๆ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานจราจรสามารถประเมินผลกระทบจากการค้าต่อการจราจรในพื้นที่อีกด้วย

 

3. การออกกฎระเบียบเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดพื้นที่การค้าใหม่ แทนที่กฎระเบียบเดิมในสมัยของผู้ว่าฯ อัศวิน ซึ่งกำหนดเป็นหลักเกณฑ์เดียวแต่บังคับใช้ทั้งจังหวัด เช่น ทางเท้าที่จะได้รับอนุญาตจะต้องติดกับถนนที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป พื้นที่ทำการค้ามีขนาดไม่เกิน 2 ตารางเมตร ลึกไม่เกิน 1 เมตร และเมื่อจัดแผงค้าแล้วต้องเว้นให้มีทางเท้า 2 เมตร และมีระยะห่างจากผิวจราจร 0.5 เมตร

กฎระเบียบนี้เป็นอุปสรรคของผู้ค้าในการยื่นขอเปิดพื้นที่ทำการค้าใหม่และทำให้หลายทำเลสอบตกตั้งแต่ด่านแรกของการพิจารณา 

แนวนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ การกำหนดหลักเกณฑ์เป็นรายพื้นที่โดยคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยระดับเขต ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสองย่านเท่านั้นที่สามารถใช้กลไกดังกล่าวได้คือ ถ.ข้าวสาร และเยาวราช

 

4. อาหารริมทางในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยถูกยกให้เป็นสตรีทฟู้ดอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั่วโลกนั้น จากผลการสำรวจในปี 2562 พบว่าอาหารริมทางร้อยละ 42 ของรายการตัวอย่างที่สำรวจมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เกินค่ามาตรฐาน โดยรายการอาหารกว่าครึ่งในกลุ่มนี้ไม่ได้ผ่านความร้อนก่อนการจัดเสิร์ฟ 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญไม่ใช่ผู้ขายขาดความรู้ในเรื่องสุขอนามัยอาหาร แต่อาจมาจากสถานที่จัดเตรียมอาหารและวัตถุดิบที่เลือกใช้ ดังนั้น โจทย์สำคัญในเรื่องอาหารริมทางคือ การยกระดับคุณภาพและสุขอนามัยโดยที่ราคาของสินค้ายังสามารถเข้าถึงได้โดยกลุ่มผู้บริโภคอาหารริมทาง

การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยหากเลือกใช้การกวดขันอย่างเข้มงวดและลดพื้นที่การค้า อาจเป็นวิธีที่ง่ายในการกำกับดูแล แต่การผ่อนปรนและเปิดโอกาสเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเมือง

โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากนั้นดูจะเป็นงานที่ท้าทายกว่า เนื่องจากพื้นที่ริมทางสาธารณะมีผู้คนกลุ่มต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ยังไม่รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายให้เดินหน้าได้ 

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่สุดของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในเรื่องหาบเร่แผงลอย คือการบริหารจัดการเพื่อสร้างสมดุลระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้

 

คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
สุนทร ตันมันทอง
ศิวกร อนันตศานต์