"โรงเรียน" แหล่งบ่มเพาะอำนาจคนตัวเล็ก | เรือรบ เมืองมั่น
เปิดเทอมไม่กี่วัน ข่าวครูเล่นงานเด็กด้วยข้ออ้างกฎโรงเรียน ที่ใหญ่เหนือกฎกระทรวงหรือสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนั้น ทยอยออกมาต่อเนื่องแบบไม่เกรงใจสังคมยุคใหม่
ที่เขาต่อต้านความรุนแรงและการบูลลี่ มีทั้งกล้อนผม เตะ ตบ เหยียดหยามกันสารพัด เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ไม่มีใครจัดการให้เด็ดขาดลงไปได้
การแก้ปัญหาเป็นแบบ case by case และมักจบลงที่การไม่ได้ลงโทษอะไร ผลที่เป็นแบบนี้อาจนำไปสู่การละเมิดเด็กในขั้นที่หนักขึ้นต่อไป ภาวะร้าวรานใจเรื้อรัง (Trauma) ของผู้ถูกกระทำ สถาบันครอบครัวที่ความคิดความอ่านเชิงยอมจำนน และตัวครูเองน่ะแหละที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตนได้
ปัญหาความบ้าอำนาจของครูไม่ใช่ปัญหาปัจเจกบุคคล แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ด้วยการวางระบบการควบคุมให้ดีและจัดการอย่างเคร่งครัด
สังคมไทยมีอาชีพอยู่ไม่กี่ประเภทที่ปล่อยให้คนมีอำนาจเหนือคนในสังคมของตนเองอย่างแทบไม่มีข้อจำกัด ขณะที่บารมีนอกสังคมของคนกลุ่มอาชีพเหล่านั้นก็สูงชนิดที่ใครๆ ก็เกรงใจในระดับหนึ่ง ดูเผินๆ ครูโรงเรียนน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ เพราะมีอำนาจสูงมากในพื้นที่ของตนเอง แต่กลับไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เพราะเมื่อออกนอกโรงเรียนพลังของครูกลับมิได้เป็นเช่นนั้น
ครูนอกโรงเรียนไม่เป็นที่น่าเกรงขามที่ใครจำต้องเกรงใจ (วัฒนธรรมการเกรงใจคนมีอำนาจเป็นปรากฏการณ์ของสังคมที่ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่) อีกทั้งครูไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต ไม่ต่างจากประชากรกลุ่มอื่นในสังคม อาจมากกว่าด้วยซ้ำ
เช่น หนี้สินของครูกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว ความเครียดอันเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ ของตนที่แก้ไม่ได้จะสลายไปชั่วคราวเมื่อพวกเขาเข้าสู่รั้วโรงเรียนที่พวกเขามีอำนาจเหนือเด็ก เมื่อมีประเด็นปัญหาในโรงเรียนเฉพาะหน้ามาเกี่ยวข้องพวกเขาก็อาจแก้ไขปัญหาไปในทางอำนาจนิยมได้
สังคมในโรงเรียนเป็นสถานที่กึ่งปิด นักเรียนต้องพึ่งพาครูเพราะต้องการเรียนให้จบ ถ้าเป็นสังคมที่เจริญแล้วการเรียนจบหรือไม่จบขึ้นกับความสามารถของเด็กเป็นหลัก แต่ในสังคมแบบไทยๆ ปัจจัยอื่นเข้ามามีผล อาจจะมากกว่าเรื่องเรียนด้วยซ้ำ ทำให้เด็กต้องกลัวครู ยอมทำตามแทบทุกอย่างที่ครูบอก แม้จะเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับการศึกษา
สิ่งเหล่านี้ยิ่งบ่มเพาะให้ครูรู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือเด็กมากกว่าปกติ และอาจทำอะไรลงไปตามใจตามผลประโยชน์ของตนโดยไม่แคร์ว่าเด็กจะคิดอย่างไรหรือจะเจ็บปวดกายใจเพียงไร
การลงโทษแบบแปลกๆ จงใจให้ได้เจ็บได้อายไม่ใช่กระบวนการสั่งสอนให้เด็กหลาบจำ แต่เป็นกระบวนการสร้างความสุขภายในจิตใจของพวกครูใจร้าย พวกเขาจะรู้สึกว่าถูกท้าทายหากเด็กเถียงหรือขัดคำสั่ง ความหมั่นไส้ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมีรากฐานมาจากการขัดเคืองใจส่วนตัวของตนแล้วมาลงที่เด็ก
บางครั้งดูไม่มีเหตุผลแต่มันสัมพันธ์กัน เช่น ครูต้องแต่งกายถูกระเบียบตลอดจนเกิดความเครียด ไม่พอใจเด็กแต่งกายไม่ถูกระเบียบ ยิ่งเด็กไม่กล้าหือครูยิ่งกล้าลงทัณฑ์ หรือครูรู้สึกท้าทายที่เด็กกล้าเถียง เพราะในโลกแห่งความจริงครูอาจไม่กล้าเถียงกับใคร จึงลุแก่โทสะเพื่อหยุดพฤติกรรมของเด็ก
ไม่ใช่ครูทุกคนหรือส่วนใหญ่จะเป็นอย่างที่กล่าวมา แต่ครูแกะดำอย่างนี้ก็ยังมีมาก และสืบต่อรุ่นสู่รุ่น แม้แต่ในโรงเรียนดังที่อ้างการมีกฎระเบียบประเพณีเข้มข้นยาวนานนับร้อยปี ก็เป็นประเพณีที่มีไว้เพื่อให้ผู้น้อยยอมจำนนต่อผู้ใหญ่เป็นหลัก แล้วก็หวังว่าผู้ใหญ่จะมีคุณธรรมต่อผู้น้อยไปเอง แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นล่ะ จะมีมาตรการอย่างไรแก้ไขปัญหา คำตอบคือ ไม่มีความชัดเจน
จริงอยู่ที่มีกฎระเบียบใหม่ของกระทรวงออกมาดูทันสมัย แต่ในทางปฏิบัติเด็กหรือผู้ถูกกระทำจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ในสายตาของผู้บริหารโรงเรียน ถ้าเป็นเรื่องเล็กไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ขอให้ฝ่ายด็กหยวนๆ กันไปเลิกรากันไป แค่กล้อนผมหรือตบหน้าก็ถือเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเทียบกับต้องเสียกำลังพลในการสอนหรือเสียชื่อเสียงโรงเรียน คิดแบบนี้ไม่ถูก เพราะคนกระทำความผิดลอยนวล
ไม่มีบรรทัดฐานชัดเจนในการลงโทษผู้กระทำผิด ปล่อยไปอย่างนี้ไม่เพียงแต่ครูจะได้ใจ เด็กอาจเสียขวัญร้าวรานใจหรือยิ่งไปกว่านั้นคือการเรียนรู้ว่าหากมีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ ความคิดแบบอำนาจนิยมจึงถูกปลูกฝังในเด็กด้วย โตไปในสังคมกว้างก็จะกลายเป็นคนแบบครูผู้ใช้อำนาจรุนแรง คือกลัวหงอคนมีอำนาจเหนือกว่า แต่ใส่ไม่ยั้งกับคนด้อยกว่า
ทางออกคือ ต้องทำให้ครูทุกคนเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงหรือบูลลี่เด็กนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าคนนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นครูสอนหนังสือเด็ก ไม่ว่าจะเก่งวิชาการการเพียงไร ไปทำอาชีพอื่นหรือไม่ก็อยู่ในคุกเถอะ วิธีคือต้องใช้ระบบบังคับ เป็นครูจะหลุดตามใจตนเองไม่ได้ ผิดต่อร่างกายหรือบังคับจิตใจอาจโดนโทษถึงขั้นไล่ออก
คนที่เข้าข้างพยายามปกปิดช่วยเหลือก็ต้องโดนโทษไม่น้อยด้วย เล่นกันแรงแบบนี้จึงจะปลูกจิตสำนึกของครูได้ ครูไม่ต้องโอดครวญว่าทำอย่างนี้แล้วใครจะมีกะใจสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี เพราะการใช้ความรุนแรงและบูลลี่ไม่ใช่การสั่งสอนเด็กให้โตไปเป็นคนดี กฎโรงเรียนล้าสมัยไม่ทันโลกที่ชอบอ้างก็เช่นกัน และที่จริงครูที่ทำผิดก็ไม่ได้เชื่อหรือหวังดีต่อเด็กหรอก เลิกอ้างเถอะ.