ปัญหาสวัสดิภาพสุนัขในสถานเพาะพันธุ์ | พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงสุนัขในเชิงธุรกิจการค้าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากกระแสความนิยมการมีสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนในวิถีชีวิตสมัยใหม่
ตามธรรมดาของธุรกิจผู้ประกอบการย่อมหวังผลกำไรเป็นสำคัญ จนบางครั้งสุนัขถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการทำรายได้อย่างหนึ่งเท่านั้น โดยมิได้คำนึงถึงสวัสดิภาพของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และลูกสุนัขที่อยู่ในความดูแลเท่าที่ควร
ยิ่งไปกว่านั้น สุนัขจะถูกบังคับให้ผสมพันธุ์จนกว่าร่างกายจะไม่มีความสามารถในการผสมพันธุ์ได้อีก โดยสุนัขเพศเมียจะได้รับการผสมพันธุ์ทุกครั้งเมื่อเป็นสัด แต่เมื่อสุนัขสามารถเป็นสัดได้ตลอดชีวิต ดังนั้น สุนัขเพศเมียจึงตั้งท้องและต้องให้นมลูกตลอดเวลา ทำให้สุนัขแม่พันธุ์มีปัญหาสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 (พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ) ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสุนัขในสถานที่เพาะพันธุ์สุนัข พ.ศ.2563 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 29 ก.ย.2563 และมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2564
ประกาศดังกล่าวกำหนดมาตรการจัดสวัสดิภาพสุนัขในสถานเพาะพันธุ์สุนัขไว้เป็นการเฉพาะ โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องทั่วไป เช่น การจัดการด้านอาหารและน้ำ ด้านที่พักอาศัยและสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพอนามัย และด้านสภาวะทางจิตใจ ตลอดจนเรื่องเฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเพาะพันธุ์สุนัข เช่น การจัดทำบันทึกและจัดเก็บข้อมูลของสุนัขทุกตัว การใช้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์สุนัขเพื่อการเพาะพันธุ์ และการดูแลสุนัขท้อง แม่สุนัข และลูกสุนัขหลังคลอด
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดสวัสดิภาพสุนัขในสถานเพาะพันธุ์ตามที่ประกาศกำหนด จะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ตามมาตรา 32 ประกอบมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติข้างต้น
เกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษดังกล่าว มีข้อพิจารณาประการแรกคือ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดบางกรณีมีลักษณะที่ร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัยของสุนัขเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 5 (2) (จ) เช่นการใช้เป็นสุนัขแม่พันธุ์ในกรณีที่สุนัขนั้นเคยคลอดลูกมาแล้ว 6 ครอกขึ้นไป หรือมีอายุมากกว่า 8 ปี หรือมีสุขภาพไม่เหมาะสมเป็นแม่พันธุ์ หรือสุนัขนั้นคลอดลูกโดยการผ่าตัดมาแล้ว 3 ครอก โดยปราศจากความเห็นชอบของสัตวแพทย์เป็นลายลักษณ์อักษร
ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ถือว่าเป็นบทลงโทษที่ได้สัดส่วนหรือไม่เมื่อเทียบกับความร้ายแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สุขภาพของสุนัขแม่พันธุ์
เมื่อเปรียบเทียบกับการฝ่าฝืนหรือการไม่จัดสวัสดิภาพสัตว์ในเรื่องทั่วๆ ไปตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ เช่น การละเลยไม่จัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือไม่จัดให้สัตว์ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและพลานามัยของสัตว์
เหล่านี้เป็นการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงนัก เมื่อเทียบกับการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติที่กำหนดไว้สำหรับสุนัขในสถานเพาะพันธุ์ที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ผู้ฝ่าฝืนก็ยังได้รับโทษในอัตราเดียวกันกับกรณีข้างต้น
เนื่องจากการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ จนทำให้สัตว์ต้องได้รับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจนอาจถึงแก่ชีวิตได้นั้นไม่มีกล่าวถึงหรือบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในนิยามคำว่า “การทารุณกรรม” ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ จึงไม่สามารถนำบทลงโทษในมาตรา 31 ซึ่งมีบทลงโทษที่หนักกว่ามาปรับใช้ในกรณีของผู้เพาะพันธุ์ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการจัดสวัสดิภาพสัตว์
กล่าวโดยสรุปก็คือ ในความเห็นของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในเรื่องทั่วไปหรือเรื่องเฉพาะ หากการกระทำนั้นเป็นเหตุให้สุนัขในสถานเพาะพันธุ์ตาย หรือได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่มีลักษณะร้ายแรงโดยสภาพ หรือโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่สุนัข ผู้กระทำความผิดก็ควรต้องรับโทษหนักขึ้น
นอกจากนั้น ในการเพาะพันธุ์สุนัขนั้น ผู้เพาะพันธุ์จะต้องมีการจัดการดูแลสุนัขเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากการเลี้ยงสุนัขของคนทั่วไปที่ส่วนใหญ่จะนิยมเลี้ยงสุนัขเพียง 1-2 ตัว ดังนั้น การดูแลและการจัดสวัสดิภาพให้แก่สุนัขในสถานเพาะพันธุ์จึงต้องมีมาตรฐานและคุณภาพที่มากกว่าการเลี้ยงปกติ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สุนัขในสถานเพาะพันธุ์ เป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำธุรกิจเพาะพันธุ์สัตว์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของสุนัขเป็นจำนวนมาก ดังนั้น บทกำหนดโทษที่ผู้เพาะพันธุ์จะต้องได้รับหากมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติการจัดสวัสดิภาพของสุนัขในสถานเพาะพันธุ์จึงไม่ควรจะเป็นบทลงโทษทั่วไป ซึ่งการนำมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ มาใช้เป็นบทลงโทษผู้เพาะพันธุ์นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการกำหนดบทลงโทษที่ “ไม่” เหมาะสม
ดังนั้น เพื่อให้การจัดสวัสดิภาพของสุนัขในสถานเพาะพันธุ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเห็นควรกำหนดบทลงโทษและอัตราโทษที่เหมาะสมสำหรับสถานประกอบกิจการเพาะพันธุ์สุนัขเป็นการเฉพาะ โดยกำหนดให้มีโทษปรับหรือโทษจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับในทำนองเดียวกับอัตราโทษของการกระทำทารุณกรรมสัตว์ตามาตรา 31 ประกอบมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นผู้ประกอบการหรือผู้เพาะพันธุ์ที่มีสุนัขอยู่ในความดูแลเป็นจำนวนมาก การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการจัดสวัสดิภาพของสุนัข จึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุนัขและสังคมมากกว่ากรณีของผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วๆ ไป อีกทั้งเป็นการสร้างมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสุนัขในประเทศไทยให้คำนึงถึงสิทธิและสวัสดิภาพสัตว์อย่างจริงจังขึ้นอีกด้วย.