กฎหมายที่ทำให้บริษัท Big Tech ต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวมากขึ้น | ภาณุพันธุ์
การกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ หรือที่นิยมเรียกว่า Big Tech กำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ
ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐเริ่มพิจารณาการเพิ่มความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าของสหรัฐ โดยเพ่งเล็งวิธีการประกอบธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลาย ๆ แห่งในประเทศมากขึ้น
เนื่องจากความกังวลว่า หากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านั้นมีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไป อาจจะทำให้สามารถจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทอื่นหรือจำกัดการแข่งขันในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่นเดียวกันกับในสหภาพยุโรปที่เพิ่มความเข้มงวดการกำกับเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
กฎหมายที่กำหนดให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าว หรือ “News Media and Digital Platforms Mandatory Bargaining Code” ก็เป็นหนึ่งในความพยายามนั้น
ประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎหมายฉบับนี้เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดความไม่เท่าเทียมของอำนาจการเจรจาต่อรองระหว่างบริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัลยักษ์ใหญ่ เช่น Google และ Facebook และสำนักข่าว และเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของสื่อในประเทศออสเตรเลีย
กฎหมายนี้จะให้สิทธิแก่สำนักข่าวและสื่อต่าง ๆ ที่จะเจรจาเรื่องการจ่ายเงินสำหรับการที่บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น Google และ Facebook ใช้เนื้อหาหรือคอนเทนต์ข่าวของสำนักข่าวหรือสื่อเหล่านั้น
หรือหากมองในมุมกลับกัน กฎหมายนี้จะมีผลบังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องเจรจากับสำนักข่าวและสื่อเพื่อตกลงจ่ายค่าใช้คอนเทนต์สำหรับลิงค์หรือเนื้อหาข่าวที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลของตน
ในการเจรจาเรื่องค่าคอนเทนต์นั้น จะมีการตั้งผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) โดย Australian Communications and Media Authority (ACMA) ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวระหว่างทุกฝ่ายในระยะเวลาที่กำหนด
ACMA จะตั้งอนุญาโตตุลาการ (arbitrator) เพื่อทำการตัดสินกำหนดค่าใช้คอนเทนต์ข่าวที่บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องจ่ายให้กับสำนักข่าวหรือสื่อสำหรับคอนเทนต์นั้น ๆ
หลังจากกฎหมายนี้ประกาศใช้ บริษัท Big Tech เริ่มตกลงทำสัญญากับสำนักข่าวหลายสำนักในประเทศออสเตรเลีย และตกลงทำสัญญาเพื่อจ่ายค่าใช้คอนเทนต์ข่าวเป็นที่เรียบร้อยหลายสิบสัญญา
หากย้อนกลับไปดูที่มาของกฎหมายฉบับนี้ ตามรายงาน เรื่อง Digital Platform Services Inquiry ของคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (Australian Competition & Consumer Commission (ACCC)) ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563
ทาง ACCC ได้วิเคราะห์ผลเสียที่เกิดจากการที่บริษัทเทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัลยักษ์ใหญ่เหล่านั้นมีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไปหลายประการ ซึ่งรวมถึงอำนาจการเจรจาต่อรองในเรื่องค่าคอนเทนต์กับสื่อ
โดยในรายงานนั้นยังได้ระบุการประมาณการว่า ในทุก ๆ ค่าโฆษณา 100 ดอลลาร์ออสเตรเลียนั้น Google จะได้ส่วนแบ่งถึง 53 ดอลลาร์ออสเตรเลียและ Facebook จะได้ส่วนแบ่งถึง 28 ดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยจะเหลือถึงส่วนอื่น ๆ เพียงแค่ 19 ดอลลาร์ออสเตรเลียเท่านั้น
หลังจากกฎหมายฉบับนี้ของประเทศออสเตรเลียบังคับใช้ได้ระยะเวลาหนึ่ง หลาย ๆ ประเทศก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่จะออกกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดา ซึ่งกำลังพิจารณาที่จะออกกฎหมายในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมีชื่อว่า Online News Act ที่จะกำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องเจรจากับสำนักข่าว เพื่อจ่ายค่าใช้คอนเทนต์หรือเนื้อหาข่าว
โดยหากการกำหนดค่าตอบแทนคอนเทนต์ไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้ การตกลงดังกล่าวก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาภาคบังคับ และส่งต่อไปเข้าขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ โดยขั้นตอนทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับขององค์การมหาชนอิสระชื่อ The Canadian Radio-television and Telecommunications (CRTC)
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปก็กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย Digital Market Act (DMA) และ Digital Services Act (DSA) ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการใส่กลไกการเจรจาตกลงเรื่องการจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวคล้าย ๆ กับของ News Media and Digital Platforms Mandatory Bargaining Code ของประเทศออสเตรเลียเข้าไปด้วย
คงต้องเป็นที่น่าสังเกตกันต่อไปว่า ประเทศใดบ้างที่จะออกกฎหมายในรูปแบบคล้ายคลึงกัน เพื่อที่จะแก้ไขความไม่เท่าเทียมของอำนาจทางธุรกิจระหว่างบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และสำนักข่าวหรือผู้ประกอบการในส่วนอื่น ๆ ต่อไป
รวมถึงเป็นที่น่าสังเกตต่อไปว่าประเทศไทยเราซึ่งก็กำลังร่าง “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ..…” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศึกษาต้นแบบจากตัวอย่างกฎหมายเรื่องการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลและธุรกิจบริการดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ เช่น DMA และ DSA ของสหภาพยุโรปนั้น
จะมีการใส่กลไกเรื่องการเจรจาตกลงเรื่องจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าว หรือกลไกอื่นที่คล้ายคลึงกันนี้เข้าไปในกฎหมายด้วยหรือไม่อย่างไร.