โควิดกำเนิดโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม | อาณดา พฤฒิอางกูร
ถึงแม้ว่าระดับความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปมากกว่า 6 ล้านคน จะลดระดับความรุนแรงลงอย่างมาก
จากเดิมที่ไวรัสมีความรุนแรง ผู้ป่วยมีอาการมาก และนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน มาสู่อาการที่น้อยลงความรุนแรงของโรคน้อยลง และอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง
ณ วันนี้ไวรัสโควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ที่จะอยู่ร่วมกับเราไปจากนี้ ในช่วงที่เรากำลังรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายอย่างถึงที่สุด มีโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมที่ดีที่สุดเกิดขึ้นเช่นกัน
โครงข่ายนี้ได้ร่วมกันพยุงสถานการณ์ในช่วงวิกฤติเอาไว้อย่างสุดกำลัง สร้างความซาบซึ้งใจอย่างมากให้กับผู้คนทั่วทั้งผืนแผ่นดินไทย ขอถือโอกาสนี้แสดงความ ยกย่อง สรรเสริญ ขอบคุณ สดุดีอย่างมากที่สุดต่อคุณความดีของเขาเหล่านั้น
ย้อนเวลากลับไปในช่วงวิกฤติ หลายๆ ท่านคงยังจำภาพความรุนแรงของการระบาดในช่วงแรกได้ การระบาดรวดเร็ว และรุนแรง ภาพของคนล้มตายจากไปต่อหน้าต่อตา จากไปโดยที่คนเหล่านั้นยังทำกิจวัตรประจำวันกันอยู่ จากไปโดยที่เขายังไม่ได้รับการรักษา จากไปโดยที่เขายังไม่รู้ตัว เป็นภาพที่เป็นวิกฤติทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง
โครงข่ายได้เกิดขึ้นจากกลุ่มคนไทยที่ได้ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว บุคลากรทางการแพทย์ พระภิกษุสงฆ์สัปเหร่อ บุคคลธรรมดา บุคคลผู้มีชื่อเสียง จิตอาสา มูลนิธิ องค์กร บริษัทเอกชนรูปแบบต่างๆ และอีกหลายๆ ส่วน ประกอบด้วยบุคลากรด่านหน้า ผู้ซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงและต้องเสียสละอย่างมาก และโครงข่ายที่ให้การสนับสนุน
ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์ ด้านอาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานที่พักคอย สถานที่กักตัว สถานที่รักษาพยาบาล ยารักษาโรคแผนปัจจุบัน แผนไทย แผนจีนและแผนทางเลือกต่างๆ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งพัสดุ การสื่อสาร และประสานงาน คอลเซนเตอร์ แพลตฟอร์มช่วยเหลือ ให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย และอื่นๆ อีกหลายด้าน
โครงข่ายต่างให้ความช่วยเหลือตามความสามารถ และความชำนาญเฉพาะทาง โครงข่ายที่มีขนาดใหญ่ เช่น มูลนิธิ องค์กร บริษัทเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือในส่วนของงานที่ต้องมีความชำนาญเฉพาะ งานมีขนาดใหญ่ และใช้ทุนทรัพย์มาก
โครงข่ายที่มีขนาดเล็กให้ความช่วยเหลือในส่วนของงานที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า งานมีขนาดเล็กกว่าและใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า แต่ก็เป็นงานที่ล้วนแต่มีความสำคัญเชื่อมโยง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน โครงข่ายทั้งหมดคือกำลังสำคัญที่ทำให้เราผ่านวิกฤติมาได้อย่างดี
ความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่ผู้ป่วยเท่านั้น ยังกระจายไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดที่ตกงาน ขาดรายได้ และปัจจัยสำคัญต่างๆ ในการดำรงชีวิต จากการปิดกิจการของภาคเอกชน การล็อกดาวน์ การหดตัวทางเศรษฐกิจ
ผู้เขียนมีความเชื่อว่า จากการที่ความช่วยเหลือมีอยู่ในทุกที่เช่นนี้ ทำให้ภาพแห่งความวุ่นวาย ความรุนแรง การปล้น การบุกทำลายร้านค้า ที่พักอาศัย และการประท้วงรุนแรง ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยดังเช่นเกิดขึ้นในที่อื่นๆ
ถ้าไม่ได้โครงข่ายอาจมีการเจ็บป่วยล้มตาย อันเนื่องมาจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่การเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากการระบาดของโรคแต่เพียงอย่างเดียว
นั่นอาจหมายถึงความสูญเสียที่มากกว่าที่รุนแรง และยาวนานกว่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากไปกว่านี้อีกมาก ในงานเขียนครั้งนี้จึงถือโอกาสกล่าวขอบคุณอย่างสูงกับโครงข่ายต่อความเสียสละนานาประการของเขา ด้วยว่าเขาเหล่านั้น ได้เข้ามาช่วยตรงจุดตรงเวลาที่มีความต้องการสูงสุดโดยแท้จริง
โครงข่ายทำให้เราได้กระจ่างว่า ภายใต้รอยยิ้มของคนไทย ที่เป็นสยามเมืองยิ้มมาตั้งแต่อดีตนั้นไม่ได้เป็นเพียงรอยยิ้มบนใบหน้าเท่านั้น แต่เป็นรอยยิ้มที่ออกมาจากจิตในของคนไทย ที่มีความโอบอ้อมอารีต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์โดยแท้จริง อย่างยากที่จะหาได้จากที่ใดๆ
เมื่อยามลำบากที่สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติถึงขีดสุด เขาเหล่านั้นอาสาทำงาน อาสาช่วยเหลือด้วยความเสียสละ จากจิตใจอันดีงามของเขา ถึงแม้ว่าตัวเขาเหล่านั้นเองก็เป็นบุคคล และองค์กรหนึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยเช่นเดียวกัน สิ่งนี้เป็นโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Nets) ในแบบฉบับของประเทศไทย
การที่ประชาชนให้การช่วยเหลือดูแลกันและกันโดยสมัครใจ เป็นความช่วยเหลือที่รับรู้ได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทั้งของผู้ให้และผู้รับ การสมัครใจช่วยเหลือนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้ความรู้สึกลึกซึ้งกว่านิยามในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาก
ความหมายทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น “โครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม หมายถึง การดำเนินงานโดยภาครัฐบาล ภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมกันให้ความคุ้มครองหรือช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่กลุ่มประชากรที่ยากจน ด้อยโอกาส หรือได้รับการเสี่ยงภัยต่างๆ ให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง ได้รับสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมประชาชนทั่วไป”
โครงข่ายของเราเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม การเข้ามาช่วยเหลือของโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมแบบฉบับของประเทศไทย ในรูปแบบของเราเองที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ได้เข้ามาพยุงสถานการณ์จากการเข้ามาร่วมกันให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันท่วงทีดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้ให้เวลา และเปิดโอกาสกับภาครัฐบาลในการออกมาตรการ และนโยบายความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาปัญหาในลำดับถัดมาได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ
ดังคำกล่าวที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เราได้เห็นภาพนั้นโดยถ่องแท้ ก็จากวิกฤติสถานการณ์โรคระบาดโควิดในครั้งนี้ และวีรบุรุษที่เรามีโอกาสได้พบก็คือ “คนไทยผู้เสียสละทุกคน”.
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร.อาณดา พฤฒิอางกูร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล