หมอลำอีสานในยุคดิจิทัล | ศิวาพร ฟองทอง
การแพร่ระบาดของโควิด 19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา หมอลำถือเป็นหนึ่งอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลุ่มแรก ๆ ลค่าทางเศรษฐกิจลดลงกว่าห้าพันล้านบาท
ในสถานการณ์ปกติอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิงก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 6,615 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 38,835 คน
แต่ในช่วงของสถานการณ์โควิด 19 มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงกว่าห้าพันล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สามารถออกทำการแสดงในพื้นที่จริงได้ตามปกติ คณะหมอลำต่าง ๆ จึงได้ปรับรูปแบบการแสดงให้สอดคล้องกับบริบทของวิถีชีวิตใหม่ คิดค้นนวัตกรรมและวิธีการนำเสนอใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ผู้ชมในยุคนี้
วิกฤติครั้งนี้ หมอลำหลายคณะไป “รอด” และมีหลายคณะถึงกับ “ร่วง” ด้วยเหตุปัจจัยด้านการลงทุน ภาวะผู้นำของศิลปินผู้ประกอบการธุรกิจหมอลำ การรักษาฐานผู้ชมและกระแสความนิยมในโลกออนไลน์ การปรับรูปแบบการนำเสนอ และการปรับรูปแบบองค์กรและการบริหารจัดการ
การศึกษาของ “โครงการหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) วิเคราะห์ลักษณะการตื่นตัวของคณะหมอลำช่วงโควิด สามารถจำแนกได้ 4 ลักษณะ คือ
- กลุ่ม A เป็นหมอลำวงใหญ่และตื่นตัว
- กลุ่ม B เป็นหมอลำวงใหญ่ค่อนข้างนิ่ง
- กลุ่ม C คือหมอลำวงขนาดกลางและเล็กที่ค่อนข้างตื่นตัวแต่ยังขาดทรัพยากร
- กลุ่ม D คือหมอลำวงเล็กที่หยุดนิ่งและขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิกฤตการณ์โควิดทำให้ธุรกิจในภาพรวมพังทลาย แต่ธุรกิจหมอลำกลับมีการขยายตัว มีคณะหมอลำตั้งใหม่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด จำนวน 4 คณะ เกิดอาชีพใหม่ที่แตกแขนงออกจากอาชีพหมอลำอีกหลายสิบอาชีพ คณะหมอลำหันมาใส่ใจในการประสานความร่วมมือกัน มีการสลายกำแพงและแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น
การมองอนาคตหลังโควิดพบว่า ในอนาคตหมอลำจะอยู่ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) มีทั้งการแสดงในพื้นที่จริงและแสดงในพื้นที่เสมือนควบคู่กันไป และจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอีกมากมายจากฐานของการแสดงหมอลำ
การแสดงความคิดเห็นของผู้ชมหมอลำบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้นตามแนวโน้มของยุคดิจิทัล และกลุ่มคนรุ่นใหม่ พบว่า วงหมอลำที่ปรับธุรกิจเข้ากับโลกออนไลน์ได้เร็วและมีการใช้ YouTube หรือ Facebook จะสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างฐานแฟนคลับใหม่ได้ดี โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ไม่สามารถเปิดการแสดงหน้าเวทีได้
ดังนั้น จะต้องมีการออกแบบหมอลำใหม่ (New supply) ที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมเดิม และสร้างความต้องการใหม่ (New demand) โดยยึดที่เอกลักษณ์ของหมอลำ คือ การลำเรื่องต่อกลอนที่มีสังวาด แต่ต้องปรับวิธีการเล่าเรื่องหรือนำเสนอใหม่ให้เหมาะกับกลุ่มผู้ชมและยุคสมัย ควรมีการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีในธุรกิจหมอลำโดยให้ความสำคัญกับฉาก แสง สี เสียง และการฝึกฝนศิลปินเพื่อให้สามารถถ่ายทอดแก่นของหมอลำ (การลำเรื่อง)
รวมไปถึงการวางภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับผู้ชม การขยายฐานผู้ชมสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมีกำลังซื้อในอนาคต กลยุทธ์การร่วมมือกับศิลปินหรือธุรกิจอื่น ๆ ก็จะช่วยขยายฐานกลุ่มผู้ชมให้กว้างมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการร่วมมือทางธุรกิจประเภทอื่น ๆ อาทิ การใช้ Digital money จับจ่ายใช้สอยภายในธุรกิจหมอลำหรือใช้การแสดงหมอลำใน Event สำคัญ ๆ
หรือการขยายฐานรายได้จากการนำสินค้าของสปอนเซอร์เข้าสู่ความสนใจของผู้ชมในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ การบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำลงจะเป็นแนวโน้มที่ธุรกิจหมอลำจะต้องปรับตัวในอนาคต
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการสร้างความยั่งยืนของหมอลำอีสาน มีดังต่อไปนี้
- การยกระดับให้หมอลำสามารถเป็นกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อสังคมและสืบสานมรดกของชาติที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลอีกหนึ่งประเภท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการให้หันมาพัฒนาธุรกิจด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น
- เปิดโอกาสให้คณะหมอลำสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของภาครัฐหรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (ดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อลดภาระที่ผู้ประกอบการต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ
- มีองค์กรที่จัดตั้งศูนย์หรือพื้นที่สำหรับส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ไม่จัดสรรกำไร และสามารถรับเงินอุดหนุนจากรัฐได้ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นการถ่ายทอดและบ่มเพาะศิลปินหมอลำมืออาชีพ ส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิง และส่งเสริมธุรกิจการออกแบบและการจัดการธุรกิจหมอลำแบบครบวงจร รวมถึงเป็นศูนย์ในการ up-skill และ re-skill อาชีพในอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม (หมอลำ) ได้เป็นอย่างดี
- ภาครัฐควรจับมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหมอลำและเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ประกาศเมืองที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมให้เป็น “มหานครแห่งหมอลำ (City of Morlum)” เช่น ขอนแก่น-มหานครแห่งหมอลำ เป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว การลงทุน การสร้างอาชีพ การพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม.
คอลัมน์ อนาคตคนไทย 4.0
ศิวาพร ฟองทอง และคณะ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น