แบงก์ญี่ปุ่น: โดดเดี่ยว ผู้น่ารัก (สำหรับนักลงทุน?) | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
สำหรับประเทศหลักของโลก มีเพียงญี่ปุ่นที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังคงอยู่ในโหมดการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเต็มตัว บทความนี้ จะตอบคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น รวมถึงบีโอเจจะดำเนินการนำอัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่จุดที่เป้าหมายร้อยละ 2 ได้อย่างไร
เพราะเหตุใด เศรษฐกิจญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว ยังคงอยู่ในโหมดการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบเต็มตัว? ตรงนี้ ฮารุอิโกะ คูโรด้า ผู้ว่าการบีโอเจ ได้ให้คำตอบว่า มีเหตุผลอยู่ 3 ประการ ได้แก่
1. GDP: ขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในตอนนี้ยังเล็กกว่าช่วงก่อนโควิดอยู่ร้อยละ 2.7 สภาพถือว่าใกล้เคียงกับบ้านเราในขณะนี้ ส่วนขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปใหญ่กว่าตอนก่อนโควิดอยู่ร้อยละ 3.7 และ 0.6 ตามลำดับ ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ตรรกะในการคิดออกจะคล้ายกับแบงก์ชาติบ้านเราคือควรผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อประคองเศรษฐกิจไปก่อนในช่วงนี้
2. Terms of Trade: แม้ว่าอัตราการเติบโต GDP ของญี่ปุ่น ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อวัดในปีแบบงบประมาณ 2021 ทว่าหากพิจารณาจาก ตัววัด GNI (Gross National Income) ซึ่งทำการเพิ่มปัจจัยอื่นๆ อาทิ รายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ และรายได้จากกำไร หรือขาดทุนจากการค้า
ซึ่งในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีค่าเป็นลบจากการที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีราคาสูงขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินสกุลดอลลาร์ แม้ว่าค่าเงินเยนจะช่วยให้การส่งออกสินค้าและบริการ มีราคาในประเทศปลายทางที่ถูกลง ทว่าไม่ได้ช่วยด้านการนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นการผ่อนคลายนโยบายการเงินต้องมาช่วยชดเชยในส่วนการนำเข้าที่สูงขึ้นด้วย
(ภาพถ่ายโดย Aleksandar Pasaric)
3. Inflation: แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นแบบที่ไม่รวมอาหารสด ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะเท่ากับร้อยละ 2.1 ทว่าเมื่อนำปัจจัยราคาจากด้านพลังงานออกไปจากการคิดเงินเฟ้อ ปรากฏว่าอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวในเดือนเมษายนจะเหลือร้อยละ 0.8
ในขณะที่ทางการญี่ปุ่นได้ประมาณการ อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นแบบที่ไม่รวมอาหารสดในปี 2022 ว่าเท่ากับร้อยละ 1.9 ทว่าในปี 2023 จะเหลือเพียงร้อยละ 1.1 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับเข้าเป้าหมายควรจะใกล้เคียงระดับร้อยละ 2
เมื่อคิดแบบเฉลี่ยตลอดวัฏจักรเศรษฐกิจ จึงทำให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นควรจะดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไปอีก นั่นคือ บีโอเจ ยังน่าจะกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินไปอีกพักใหญ่
(BOJ)
บีโอเจจะดำเนินการนำอัตราเงินเฟ้อไปเข้าสู่จุดที่เป้าหมายร้อยละ 2 ได้อย่างไร? ในจุดนี้ ผู้ว่าการบีโอเจ ได้ให้ความเห็นว่าขึ้นอยู่กับ 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1. พลวัตอัตราเงินเฟ้อในช่วงโควิด โดยหากเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับสหรัฐและยุโรป จะพบว่าในกรณีของสหรัฐนั้น อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พุ่งไปที่ร้อยละ 8.6 มาจากการที่ทั้งธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดไม่เร่งลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อปลายปีที่แล้ว
รวมถึงตลาดแรงงานสหรัฐค่อนข้างตึงตัวโดยมีสัดส่วนระหว่างตำแหน่งงานว่างกับผู้สมัครงานเกือบเท่ากับ 2 ส่งผลให้ค่าจ้างเริ่มตึงตัวขึ้น ในขณะที่เงินเฟ้อของยุโรป ส่วนหลักมาจากการนำเข้าพลังงาน ที่มีราคาสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อต้นปีนี้
ด้านอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นนั้น ในส่วนของเงินเฟ้อของฝั่งสินค้าไม่ได้เป็นประเด็นมากนัก ปัญหาหนักอยู่ตรงที่อัตราเงินเฟ้อของภาคบริการที่ไม่ยอมขึ้นจากร้อยละศูนย์ คาดกันว่ามาจากอุปสงค์เป็นแบบที่เมื่อขึ้นราคาเพียงนิดเดียว อุปสงค์ก็ลดลงแบบรวดเร็ว ในทางกลับกันเมื่อลดราคา อุปสงค์ไม่ได้สูงขึ้นแต่อย่างใด จึงส่งผลให้การคงราคาไว้เท่าเดิมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของผู้ให้บริการ
2. ความสำคัญของการขึ้นค่าจ้าง ปัญหาของตลาดแรงงานญี่ปุ่นว่าด้วยเหตุผลที่ค่าแรงไม่เร่งตัวขึ้นมา คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่าจ้างเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยขึ้นต่ำกว่าค่าจ้างมาก ทำให้แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในช่วงปีนี้
แรงงานญี่ปุ่นก็ไม่รู้สึกว่าค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เนื่องจากค่าจ้างที่เพิ่มมาหลายปีนั้นได้ไปกลบราคาสินค้าที่แม้เพิ่มขึ้นมาในปีนี้ ผู้ใช้แรงงานก็ไม่ได้รู้สึกกระเทือนอะไรมาก จึงไม่มีแรงจูงใจในการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งส่งผลให้วงรอบการขึ้นค่าจ้างต่อเนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในปีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรแต่อย่างใด
3. สัญญาณการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง ในจุดนี้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดหวังของญี่ปุ่น เมื่อพบว่าภาคธุรกิจมีมุมมองต่อราคาในอนาคต 1, 3 และ 5 ปีข้างหน้าสูงขึ้นในรอบหลายสิบปี ในขณะที่ผู้บริโภคมีระดับความอ่อนไหวต่อราคาที่สูงขึ้นลดลง นั่นคือ มีสัดส่วนลูกค้าน้อยลงที่จะเปลี่ยนร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อสินค้าที่ซื้อเป็นประจำมีราคาสูงขึ้นร้อยละ 10 นั่นคืออัตราเงินเฟ้อคาดหวังของญี่ปุ่นได้ขยับอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบหลายสิบปี
และนั่นคือ มีสัญญาณที่ดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง ที่ออกมาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ.
คอลัมน์ มุมคิดมหภาค
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)