ทักษะดิจิทัลไม่ใช่เพื่อประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์เท่านั้น
จากข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงอยู่เพียง 1%
ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลี ที่มีแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงอยู่ถึง 11.1%, 8.2% และ 7.0%
ความสำคัญของแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงไม่ได้หมายความว่าแรงงานแรงงานเหล่านี้จะต้องอยู่ในสายอาชีพดิจิทัลโดยตรง เช่น ไม่ได้หมายความว่า 11.1% ของแรงงานมาเลเซียจะต้องประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่กลับหมายความว่า 11.1% ของแรงงานมาเลเซียไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ ก็จะสามารถนำทักษะดิจิทัลขั้นสูงไปประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสมรรถนะในการประกอบอาชีพต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น นักการตลาดที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงก็จะสามารถนำวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสมรรถนะในการประกอบอาชีพนักการตลาด
ตัวอย่างข้างบนยังสามารถใช้ได้กับอีกหลากหลายอาชีพ อาทิเช่น นักลงทุน นักสาธารณะสุข นักบริหารซัพพลายเชน นักบริหารวัตถุดิบและนักบริหารทรัพยากรต่างๆ เป็นต้น ที่สามารถนำทักษะดิจิทัลขั้นไปประยุกต์ใช้ เช่น Data Science หรือ AI มาเพื่อเสริมอาชีพหลัก หรือ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงก็จะสามารถนำการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบสิ่งต่างๆ (CAD)
จนกระทั่งถึงการพัฒนาฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twin) เพื่อจำลองวัตถุในโลกดิจิทัลให้สามารถทำงานได้เสมือนกับวัตถุจริงมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสมรรถนะในการประกอบอาชีพนักออกแบบผลิตภัณฑ์
หรือกระทั่งนักชีววิทยาที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงก็จะสามารถนำการใช้คอมพิวเตอร์มาเพื่อจำลองโมเดลต่างๆ ทางชีววิทยา หรือกระทั่งการควบคุมการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อออโตเมทการทดลองหรือการปฏิบัติการในระดับเซลล์ และดีเอ็นเอ มาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสมรรถนะในการประกอบอาชีพนักชีววิทยา
ลิสต์นี้สามารถถูกเขียนต่อให้ได้อีกยาวเหยียดหากจะต้องพูดถึงทักษะอาชีพที่ถูกทรานสฟอร์มและสามารถเสริมสมรรถนะด้วยทักษะดิจิทัลขั้นสูง ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแต่การที่ต้องเป็นอาชีพโปรแกรมเมอร์เท่านั้น
แม้แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็นจากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จหรือธุรกิจในระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาจากการเดินทางครั้งล่าสุด ก็คือ จำนวนมากถึงไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลโดยตรงแต่ก็เกิดจากการนำทักษะดิจิทัลขั้นสูงมาเพิ่มสมรรถนะในทักษะวิชาชีพอื่นๆ
ดังนั้น สำหรับประเทศไทยที่มีแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงอยู่เพียง 1% ไม่ได้หมายถึงความตกต่ำของอุตสาหกรรมดิจิทัลเท่านั้น แต่ย่อมต้องหมายถึงการสูญเสียโอกาสของหลายอุตสาหกรรมในประเทศที่ควรจะสามารถเพิ่มสมรรถนะด้วยทักษะดิจิทัลขั้นสูง แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องทักษะของแรงงานในประเทศ