โทษปรับ ทางอาญา ทางปกครอง และทางแพ่ง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

โทษปรับ ทางอาญา ทางปกครอง และทางแพ่ง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

"โทษปรับทางอาญา" โทษ สำหรับผู้กระทำความผิดทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มีดังนี้ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน

ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรับประการเดียว ผู้ต้องโทษปรับต้องชำระค่าปรับภายใน 30 วันนับแต่วันมีคำพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับจะต้องถูกยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้อง เพื่อใช้ค่าปรับ มิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ในอัตรา 500 บาทต่อหนึ่งวัน แต่กักขังได้ไม่เกินหนึ่งปี 

เว้นแต่ศาลพิพากษาปรับตั้งแต่ 2 แสนบาท กักขังเกินหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา ศาลอาจสั่งให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ตามเงื่อนที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ได้

การชำระค่าปรับทำให้คดีอาญาสิ้นสุดลงก่อนถึงศาล

- ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว ยอมเสียค่าปรับในอัตราสูงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา

- ความผิดลหุโทษ หรือที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีที่มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนหรือผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้เปรียบเทียบแล้ว

- ความผิดตามพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เป็นกฎหมายเฉพาะที่มีโทษทางอาญาที่กำหนดให้มีการเปรียบเทียบปรับ และกำหนดผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับไว้ และได้ชำระค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว

 

ไม่ยอมชำระค่าปรับตามที่มีการเปรียบเทียบ

ในกรณีที่มีการเปรียบเทียบปรับ แต่ผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระค่าปรับ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับไม่มีอำนาจยึดทรัพย์เพื่อชำระค่าปรับ หรือให้มีการกักขังแทนค่าปรับ เพราะเป็นอำนาจของศาล ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามขั้นตอนต่อไป

การปรับทางปกครอง

ปัจจุบัน กฎหมายไทยได้มีการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง โดยนำโทษทางปกครอง โดยเฉพาะการปรับทางปกครองมาใช้ให้เป็นสภาพบังคับ กับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของฝ่ายปกครอง จุดมุ่งหมาย เพื่อลดการดำเนินคดีอาญาสำหรับการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ ระเบียบที่ไม่ร้ายแรง

พระราชบัญญัติที่มีการกำหนดโทษปรับทางปกครองไว้ปัจจุบันมีรวม 29 ฉบับ

หลักเกณฑ์และวิธีการในการออกคำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครอง

เนื่องจากการออกคำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครอง เป็นการออกคำสั่งทางปกครอง จึงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันเป็นกฎหมายกลาง เว้นแต่พระราชบัญญัตินั้นกำหนดให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกคำสั่งไว้ ก็ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นนั้น 

แต่ถ้าหลักเกณฑ์และวิธีการนั้นมีรายละเอียดที่ไม่ครอบคลุมเท่าที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเฉพาะส่วนที่ไม่ครอบคลุมถึง

ผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง

ในกรณีผู้กระทำผิดไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง ต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา เพื่อบังคับชำระค่าปรับทางปกครอง ถ้าศาลพิพากษาชำระค่าปรับทางปกครอง หากผู้นั้นไม่ชำระค่าปรับทางปกครองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชดใช้ค่าปรับแทนค่าปรับทางปกครอง 

และในกรณีที่ผู้นั้นไม่มีทรัพย์สินให้ยึดหรือทรัพย์สินที่ยึดไม่พอเพียงพอแก่การชำระค่าปรับ ทางปกครอง ให้ศาลกำหนดมาตรการให้ผู้นั้นบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะหรือมาตรการอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ไม่อาจใช้มาตรการกักขังแทนค่าปรับมาใช้บังคับในกรณีเช่นนี้ได้

ในกรณีที่พระราชบัญญัตินั้นให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เช่น พระราชบัญญัติติแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกับผู้กระทำความผิดที่ไม่ยอมชำระค่าปรับ โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น เพื่อชำระค่าปรับได้

ในกรณีไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับตามคำสั่งหรือไม่สามารถดำเนินการได้ ให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชำระค่าปรับ

ในกรณีที่พระราชบัญญัติฉบับนั้นไม่มีบทบัญญัติให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองมาใช้ เช่น พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 ตามที่บัญญัติในหมวด 2/1 การบังคับทางปกครอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ได้

การปรับทางแพ่ง

กฎหมายไทยที่มีบทบัญญัติในการปรับทางแพ่งในปัจจุบันมี 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561

สำหรับการปรับทางแพ่งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เป็นมาตรการหนึ่งของการลงโทษทางแพ่งที่มี 5 มาตรการ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 12/1 มาตรการลงโทษทางแพ่ง มาตรา 317/1-มาตรา 317/14 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2559

การกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง มีจุดมุ่งหมายเป็นมาตรการทางเลือกที่จะช่วยในการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอนในการดำเนินคดีได้มาก การพิจารณาใช้มาตรการทางแพ่งแทนการดำเนินคดีอาญา ใช้ได้กับความผิดบางประเภทตามที่บัญญัติในมาตรา 317/1 (1)-(4) โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งก่อน

การกำหนดค่าปรับทางแพ่งเป็นไปตามที่กำหนดในมาตรา 317/5 ถ้าหากผู้กระทำความผิดยินยอมที่จะชำระค่าปรับ และได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ความผิดทางอาญาเป็นอันระงับ

ในกรณีผู้กระทำความผิดไม่ยอมชำระค่าปรับตามที่ตกลงไว้หรือชำระไม่ครบถ้วน สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อบังคับให้เป็นไปตามที่ตกลงยินยอมไว้.