กับดักความคิดเกี่ยวกับ "อาชีวศึกษาไทย" | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ประเทศไทยตั้งความหวังว่าจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีรายได้เทียบเท่าประเทศที่มีรายได้สูง และเป็นประเทศพัฒนาแล้วบนพื้นฐานของนวัตกรรมและความรู้
ดังนั้น การพัฒนากำลังคนสายวิชาชีพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่เท่าที่ผ่านมา วงการอาชีวศึกษามีภาพลักษณ์ที่เป็นลบในสื่อต่างๆ เกิดจากวัยรุ่นตีกัน มีปัญหาวุฒิการศึกษาที่ถูกกดค่าแรงงาน ทำให้ภาพลักษณ์ทางลบในสังคม ซึ่งทำให้ผู้ปกครองบางส่วนไม่ค่อยอยากให้ลูกหลานเข้าเรียนในสายอาชีวศึกษา
จากสถิติปี 2563 ของคณะกรรมการอาชีวศึกษา ผู้เรียนอาชีวศึกษาในทุกระดับชั้นในประเทศไทย มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณกว่า 1 ล้านคน โดยสาขาวิชาที่มีผู้สมัครเรียนสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรม 2) พาณิชยกรรม และ 3) บริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์แนวโน้มในประเทศปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าจำนวนนักศึกษาอาชีวศึกษาในระดับ ปวช. ปี 2561 อยู่ในระดับร้อยละ 35 ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ OECD ที่ร้อยละ 37 ก็จริง แต่แนวโน้ม 10 ปีที่ผ่านมาของผู้ที่สมัครเรียนต่อในระดับ ปวส. จำนวนลดลงเพียงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับหลักสูตรสามัญที่มีแนวโน้มลดลงร้อยละ 11
การศึกษาเรื่อง การพัฒนาศักยภาพและเอกลักษณ์แรงงานอาชีวศึกษาไทย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพใน 3 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ของ รศ.ดร.จุลนี เทียนไทย และ ดร.กุลกนิษฐ์ สุธรรมชัย ใน 5 สาขาวิชา คือ เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ การท่องเที่ยว การโรงแรม อาหารและโภชนาการ และศิลปกรรม
วัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาจุดแข็งจุดอ่อนของการศึกษาอาชีวะและใช้ภาพเส้นทางการก้าวสู่แรงงานสายอาชีพของไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวทางการพัฒนาอาชีวศึกษาและแรงงานไทย
การศึกษาพบว่า ปัญหาและอุปสรรคของอาชีวศึกษาได้แก่ การพัฒนาทักษะที่สำคัญบางอย่างไม่เพียงพอ อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ทั้งปริมาณและคุณภาพ เนื้อหาการเรียนไม่ทันสมัย บางวิชาก็ฝึกปฏิบัติน้อยไป ครูไม่เพียงพอและขาดทักษะสำคัญในการสอน นอกจากนั้นยังมีปัญหาส่วนตัวคือ นักเรียนต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ และเพื่อนชักจูงให้หนีเรียน
ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้ก็คือ ได้สัมภาษณ์นายจ้าง ซึ่งชี้แนะทักษะที่ต้องการและวิพากษ์การเรียนการสอนอาชีวะไทย เช่น “จุดเด่นของอาชีวะคือเด็กอาชีวะจะมีประสบการณ์มากกว่า ด้วยความที่เด็กสายสามัญเรียนต่อมหาวิทยาลัย เขาจะเน้นเรียนแล้วเขาก็จะมาฝึกงานแค่เทอมเดียว
ดังนั้น ประสบการณ์ที่เขาจะได้รับจะค่อนข้างน้อยในการปฏิบัติงานในชีวิตจริง เพราะว่าทัวร์เนี่ยเราจะต้องลงมือทำมากกว่าอยู่ในห้องเรียน” (นายจ้าง ธุรกิจการท่องเที่ยว บริษัทภายในประเทศ กรุงเทพฯ)
“อาชีวะเน้นเรื่องการปฏิบัติจริง ซึ่งสามารถเอาไปสู้กับนักเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ได้เลย เวลามาฝึกงาน บางรุ่นเก่งกว่ามหาวิทยาลัย ปี 4 เพราะว่าเขาฝึกมาโดยตรง เขามีพื้นฐานการประกอบการ เขามีพื้นฐานการฝึกจริงมา เน้นปฏิบัติมา เพราะฉะนั้นพอมาหน้างานปุ๊บก็จะปรับตัวได้ไวกว่า แต่ว่าเด็กมหาวิทยาลัยที่เรียนมา 4 ปี จะต้องมาเริ่มปรับทัศนคติใหม่หมดเลย” (นายจ้าง ธุรกิจการท่องเที่ยว บริษัทภายในประเทศ จ.เชียงใหม่)
“จุดอ่อนก็คือ การเรียนการสอนสาขาเมคคาทรอนิกส์ในบ้านเรา เรียนแค่เพื่อที่จะรู้ ไม่เหมือนที่ต่างประเทศ ถ้าเป็นเมืองไทยอาจารย์เขาสอนให้ทำเป็น สอนว่าเครื่องนี้มันใช้อย่างไร ในต่างประเทศวิชาเรียนของเขาคือคุณต้องรู้หลักการเพื่อที่จะเอาไปสร้างอันโน้นอันนี้ต่อยอดให้ได้...” (นายจ้าง บริษัทระหว่างประเทศ ธุรกิจเมคคาทรอนิกส์ กรุงเทพฯ)
สำหรับทักษะที่สำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ก็คือ
1) ทักษะการสื่อสารภาษาระหว่างประเทศ นักศึกษาอาชีวะให้สัมภาณ์ว่า ภาษาอังกฤษต่างประเทศ ซึ่งจะสำคัญต่อการหาความรู้และเติบโตในตำแหน่ง แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือสื่อสารหรือพูดไม่ได้ เพราะเรียนหลักไวยากรณ์มากเกินไป
2) ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล แต่ผู้ประกอบการก็เห็นว่า “การสอนในปัจจุบันนี้ควรให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น IoT มากกว่านี้และในการทำงานจริงต้องใช้ Microsoft Office ตลอดเวลา แต่เด็กที่จบมากลับใช้ไม่เป็นเลย...” (ผู้ประกอบการโรงแรม)
3) มีความสร้างสรรค์ ผู้เรียนต้องสามารถปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการและโพรเซสเซอร์หรือดีไซน์ใหม่ แต่นักเรียนอาชีวะไทยเห็นว่าไทยไม่มีโอกาสให้เปิดโลกให้เห็นว่าเทคโนโลยีไปถึงไทยแล้ว ทำให้ทุนทางจินตนาการมีจำกัด
“ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้มาจากการเรียนสาขานี้ เลยรู้สึกว่าตัวเองคิดนอกกรอบมากขึ้น แม้แต่แฟนยังบอกว่าเราเปลี่ยนแปลงไป สามารถเป็นคนคิดไอเดียใหม่ๆ เอง วางแผนได้ทุกอย่าง แต่ก่อนเป็นคนที่คิดเองไม่เป็น ใครบอกอะไรก็ทำตาม ปัจจุบันก็ไม่ทำตามคนอื่นแล้ว แต่มีความคิดเป็นของตัวเอง...” (นักเรียนอาชีวศึกษา เชียงใหม่)
4) การปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะในหน้างานจะต้องทำงานกับคนต่างๆ หลายแผนก ผู้ว่าจ้างยังคาดหวังให้เด็กไทยมีสัมมาคารวะ รู้จักกาลเทศะ มีการปรับตัว มีความอดทนและสามารถควบคุมอารมณ์ จุดอ่อนก็คือเยาวชนรุ่นใหม่ยังไม่รู้วิธีแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเวลาทำงานร่วมกัน
"ทักษะที่นักเรียนอาชีวศึกษาได้จากการปฏิบัติคือ การฝึกเรื่องความอดทน เพราะมีภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องทำงานในสถานประกอบการ เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาอาหารโภชนาการ การโรงแรม"
“ปกติหนูเป็นคนอารมณ์ร้อน เวลาใครพูดไม่ถูกใจ หนูจะแสดงออกทางหน้าตา แต่ว่าเราทำงานในส่วนของการท่องเที่ยว แต่เราทำหน้าเหวี่ยงใส่ลูกค้าไม่ได้ หนูก็เลยพยายามสงบสติอารมณ์ จากที่หนูไปฝึกงานก็ลดลงมาได้เยอะ นี่คือจุดแข็งของอาชีวะที่เราได้ฝึกงาน” (นักเรียนอาชีวศึกษาสาขาการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ)
ภาพลักษณ์เกี่ยวกับอาชีวศึกษาคือ การยกพวกตีกันหรือการทะเลาะวิวาทเป็นข่าวที่ใหญ่โตเกินความเป็นจริง นักเรียนอาชีวศึกษาไม่ได้ตีกันอยู่เป็นบางเวลา มีเฉพาะบางกลุ่มบางโรงเรียน มายาคติเกี่ยวกับการเรียนอาชีวศึกษาก็ไม่ได้เรียนง่ายและไม่ได้ด้อยกว่าสายสามัญ และมีข้อดีตรงที่ว่าได้พัฒนาตัวเองในหลากหลายทักษะ ได้เรียนในสิ่งที่จะไปใช้ได้จริง มีภาคปฏิบัติ
ข้อเสนอแนะของการศึกษานี้ก็คือ ให้ส่งเสริมให้สถาบันอาชีวศึกษาเฉพาะทางสาขาอาชีพให้มีชื่อเสียงในระดับโลก เพื่อเพิ่มการออกข่าวด้านดีของนักเรียนอาชีวศึกษา เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงคนมากขึ้น ใช้สื่อเป็นตัวส่งสาร เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ที่สอดแทรกบทบาทอาชีวศึกษาในภาพที่ดีในทางสร้างสรรค์
ขอให้กำลังใจกำลังคนอาชีวะ ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย 4.0..