“เศรษฐกิจถดถอย” แล้วจะลงทุนอย่างไรดี?
ช่วงนี้ใครฟังข่าวเรื่องการเงินการลงทุนมาก ๆ จะเกิดอาการปริวิตก กระสับกระส่าย หวาดกลัว กลัวไม่มีน้ำมันเติมรถ กลัวต้องไปเข้าคิวซื้ออาหาร บางคนก็เตรียมซื้อทองทั้งเป็นเส้น เป็นก้อนเก็บไว้ เผื่อจะมีสงครามโลก ฯลฯ
ความกลัวของคนมีเงิน ก็จะแตกต่างจากความกลัวของคนที่ไม่ค่อยจะมี เพราะคนไม่ค่อยจะมี หรือไม่มีนั้น ก็ต้องดิ้นรนอย่างถึงที่สุดที่จะเอาตัวรอดไปให้ได้ วันต่อวัน มื้อต่อมื้อ
ในช่วงที่ผ่านมา ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่ของโลกจากสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้า และพลังงานดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทั่วโลก จนธนาคารกลางต่าง ๆต้องรีบปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งเร็ว และในอัตราที่สูงกว่าที่คาดไว้เดิม เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อ ลุกลามจนเงินออม และรายได้ของประชาชน ไม่เพียงพอที่จะรักษาคุณภาพชีวิตเดิมไว้ได้
แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบหนักหน่วง ก็ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ขึ้นได้ โดยตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา โลกได้ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาแล้ว 4 ครั้ง ในพ.ศ. 2518 พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2552 แต่การถดถอยที่ถือว่าเลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20 หรือที่เรียกกันว่า “Great Depression” นั้น
เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2472 โดยเป็นการถดถอยที่กินระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯปรับตัวลดลงมากถึง 89% จากจุดสูงสุด ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี และใช้เวลาอีก 26 ปี กว่าดัชนีดาวโจนส์จะกลับมายืน ณ จุดเดิม!
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในระยะ 70 ปีหลังมานี้ ตลาดหุ้นจะไม่ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องยาวนานหลายปีติดต่อกัน แต่เหตุการณ์หุ้นตกในช่วง Great Depression ก็มักจะถูกนำกลับมาพูดถึงเสมอ และทำให้นักลงทุนหวั่นเกรงว่าภาวะดังกล่าวอาจกลับมาได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของการระบาดของ COVID – 19
Andrew Hallam ผู้เขียนหนังสือขายดี Millionaire Teacher and Millionaire Expat: How To Build Wealth Living Overseas ได้คำนวณผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯในช่วง Great Depression ไว้อย่างน่าสนใจว่า หากมีผู้ที่สามารถลงทุนในหุ้นในสัดส่วนเดียวกันกับดัชนีดาวโจนส์ ณ จุดสูงสุด โดยนำเงินปันผลที่ได้รับไปลงทุนต่อในหุ้นตามสัดส่วนของดัชนีเช่นเดียวกัน เงินลงทุนเมื่อรวมกับผลตอบแทนจะกลับมาเท่ากับจำนวนเงินเดิมได้ในระยะเวลาเพียง 16 ปีเท่านั้น (จากเดิม 26 ปี) เนื่องจากอัตราเงินปันผลปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากราคาหุ้นที่ลดลงในอัตราที่มากกว่า เมื่อเทียบกับการปรับลดลงของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยอัตราเงินปันผลเฉลี่ยของดัชนีดาวโจนส์ในพ.ศ. 2475 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.2% จาก 4.1% เมื่อ 3 ปีก่อนหน้า
แต่ถ้าคำนวณ โดยพิจารณาจากมุมมองของอำนาจซื้อ (Purchasing Power) นักลงทุนรายเดียวกันนี้จะใช้เวลาเพียง 5 ปีเท่านั้นที่เงินลงทุนจะกลับมาซื้อสินค้าและบริการได้ในจำนวนที่เท่าเดิม (หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือใช้เงินน้อยลงในการซื้อของเหมือนเดิมในปริมาณเท่าเดิมนั่นเอง) เนื่องจากเศรษฐกิจถดถอยมาก จนราคาสินค้าลดลงมาก แทนที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนกรณีทั่วๆไป โดยตลอดช่วง 5 ปีแรกของการถดถอย ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ลดลงเฉลี่ยถึง 5.42% ต่อปีเลยทีเดียว
แต่ถ้าผู้ลงทุนรายเดียวกันนี้ ยังคงลงทุนต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน เช่น มีเงินลงทุน ณ จุดสูงสุด 1,000 เหรียญสหรัฐฯ และทยอยลงทุนไปอีก 100 เหรียญต่อเดือน (คล้าย ๆกับการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) อีกเพียง 6 ปีถัดมา มูลค่าเงินลงทุนรวมผลตอบแทน (โดยไม่คำนึงถึงอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นจากผลของเงินฝืด) จะสูงกว่าเงินลงทุนที่ใส่เข้าไปทั้งหมด และถ้าเติมเงินไม่หยุดอย่างนี้ไปอีก 28 ปี อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจะสูงถึง 9.2% ต่อปี (เทียบกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.43% ต่อปี ในช่วงเดียวกัน)
โลกไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก และประเทศไทยเองก็เคยผ่านภาวะถดถอยมาแล้วหลายครั้ง ทั้งเบาและหนักหน่วง ดังนั้น ขอเพียงเรายังคงมีงาน มีเงินเดือน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่กล้าบ้าบิ่นจนเกินควร และไม่หวาดกลัวจนเกินไป ก็น่าจะช่วยให้เราสามารถฝ่าฟันวิกฤติไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้ในที่สุด