อนาคตไทยที่ออกแบบได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

อนาคตไทยที่ออกแบบได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

การบริหารจัดการสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต  ภายใต้วิกฤติและความท้าทายแห่งอนาคต กลไกภาครัฐนับเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ

โลกอนาคตที่ผันผวน ไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  หากแต่วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เราได้เห็นภาพของปัญหาเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการชัดเจนขึ้นตั้งแต่ในห้วงเวลานี้

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของโลกอนาคตไม่ได้ไกลอย่างที่ใครหลายคนคิดอีกต่อไป  ความท้าทายแห่งอนาคตกำลังปะทุขึ้นแล้ว ความท้าทายเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างถ้วนทั่วกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน

ความท้าทายที่เกิดขึ้นและส่งกระทบต่อภาครัฐนั้นจึงย่อมมีผลกระทบสูงทั้งต่อภาครัฐเองโดยตรง และต่อภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆทั้งประเทศ    

การปรับเปลี่ยนก้าวเดินของภาครัฐให้ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าร่วมกับภาคส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงทวีความสำคัญ

ทั้งนี้ พลังจากความร่วมมือของประชาชนภาคส่วนต่างๆ มีความสำคัญยิ่ง การออกแบบอนาคตไทย ออกแบบนโยบาย การร่วมกันเสนอไอเดียเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง

โลกกำลังปรับตัวกับวิถีใหม่ วิถีชีวิต วิธีการทำธุรกิจ วิธีการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตาม  ภาครัฐเองก็จำเป็นต้องถือช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านนโยบาย ด้านการกำกับดูแล  รวมไปถึงด้านการบริการ ตลอดจนการบริหารจัดการด้านต่างๆ

Thailand Future ได้มีโอกาสร่วมกับสำนักคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. เปิดเวที MY BETTER COUNTRY HACKATHON : อนาคตที่ออกแบบได้กับราชการไทยที่อยากเห็น  

ผู้ร่วมกิจกรรมจากทั่วประเทศได้ระดมความคิดเห็นและนำเสนอไอเดียในการพัฒนาภาครัฐไทย  การออกแบบเพื่อพัฒนาราชการไทยในอนาคตประกอบด้วย  4 โจทย์หลัก คือ

(1) การบริการภาครัฐที่ตอบโจทย์ (2) การบริหารจัดการและโครงสร้างภาครัฐที่รองรับการเปลี่ยนแปลง  (3) การเป็นรัฐบาลดิจิทัลใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ (4) ระบบการบริหารคนภาครัฐที่ดึงดูด“คนเก่งและรักษาคนดี”

ตัวอย่างไอเดียที่น่าสนใจที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจาก Hackathon ครั้งนี้ เช่น

1. SGSIC หรือ Seamless Government Service Integration Center หน่วยงานบูรณาการการบริการภาครัฐแบบไร้รอยต่อ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานระหว่างหน่วยงาน ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เห็นถึงความคุ้มค่าของโครงการที่รัฐจัดสรรงบประมาณในแต่ละภาคส่วน รวมทั้ง ลดค่าใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ

2. ปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐ อาทิ ระบบบริการสาธารณสุข ระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยการมีนโยบายบูรณาการทำงานด้านสาธารณสุขปฐมภูมิและพัฒนา Single Platform ที่นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการเลือกและตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเองได้ ภาครัฐเองก็จะมีข้อมูลบริหารจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อนาคตไทยที่ออกแบบได้ | ประกาย ธีระวัฒนากุล

3. การนำเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA มาปรับใช้และ นำดิจิทัลมาปรับให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน โดยเน้น 4 ใช่ คือ คนที่ใช่ เครื่องมือที่ใช่ ข้อมูลที่ใช่ ซึ่งจะนำไปสู่การบริการที่ใช่ในที่สุด

4. โครงการซูเปอร์ฮีโร่ เพื่อที่จะสร้างคน ดึงดูดคนเก่งและรักษาคนดีเอาไว้  โดยมี 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 1) สร้างคน ตั้งแต่การสรรหา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพขณะอยู่ในระบบราชการ 2) ระบบบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส และมีความยืดหยุ่น

3) องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ และ 4) สิ่งแวดล้อมที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้บุคลากรภาครัฐมีความสุขมากขึ้นส่งผลให้ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น

นโยบายภาครัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายบนฐานของข้อมูล (Data-Driven Policy)  ให้มากขึ้น   การออกแบบนโยบายจำเป็นต้องใช้ข้อมูล นโยบายต้องมาจากฐานของข้อมูล เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับศักยภาพของประเทศได้อย่างแท้จริง 

บริการภาครัฐต้องพลิกโฉม หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาเรื่องการให้บริการภาครัฐที่มีการทำงานเป็นแท่งหรือเป็นไซโล  ระบบราชการที่ทำงานเป็นไซโลเช่นนี้ในหลายประเทศจึงส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ เกิดปัญหาการให้บริการที่กระจัดกระจาย แยกส่วน 

ภาครัฐยุคใหม่ต้องมีขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น คล่องตัวโปร่งใส เปิดกว้าง เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม  แนวคิดในการปรับปรุงบริการภาครัฐ จึงต้องพลิกโฉมการให้บริการภาครัฐ โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของพันธมิตร ระหว่างภาครัฐและประชาชนเข้ามาประยุกต์ใช้  การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุก (Active Engagement) มีความสำคัญ

"การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยเพียงคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการนโยบายและการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน"  

การทำงานแบบใหม่จากนี้ไปจึงต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง  ปลดล็อค ทลายข้อติดขัด การปฎิรูปกลไกการทำงาน การเปิดเวทีการทำงานร่วมกัน 

เพราะอนาคตออกแบบได้  และอนาคตจะต้องไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.