ขยะเปียก? ขยะแห้ง? คำที่ทำให้สับสนสำหรับการแยกขยะ | จีมา ศรลัมพ์
ขยะเปียก ขยะแห้งคืออะไร? แยกขยะไปทำไม? ชาว กทม.ควรจะต้องทำความเข้าใจว่าการแยกขยะนั้นไม่ได้ทำไปเฉยๆ แต่ทำไปเพื่อให้ขยะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ดีมากขึ้น
แต่จะแยกอย่างไรให้ถูก ต้องทำความเข้าใจรณรงค์และมีการกันให้ต่อเนื่อง ตัวอย่างคำถามยอดฮิต เช่น
- กระดาษทิชชูแห้งเป็นขยะเปียกหรือขยะแห้ง?
- กระดาษทิชชูเปียกเป็นขยะเปียกหรือขยะแห้ง?
- อะไรบ้างคือขยะรีไซเคิล ที่ขายได้ และรู้หรือไม่พลาสติกที่มีเครื่องหมายรีไซเคิล ไม่ได้ถูกรีไซเคิลจริงๆ ได้ทุกชนิดขึ้นอยู่กับว่าโรงงานรับซื้อเขารับซื้ออะไร
บางคนเห็นถังขยะรีไซเคิล และเข้าใจว่ากระดาษเป็นสิ่งที่รีไซเคิลได้จงเอาเศษกระดาษ หรือกระดาษทิชชูไปทิ้งในถังรีไซเคิล ที่จริงไม่ถูก
ถังขยะรีไซเคิลควรทิ้งแต่ขยะรีไซเคิลที่ขายได้ ได้แก่ขวดน้ำพลาสติก กระป๋องอลูมิเนียมหรือขวดแก้ว กระดาษทิชชูสกปรกไม่มีใครรับรีไซเคิล กระดาษที่จะทิ้งในถังขยะรีไซเคิลควรแยกประเภทกระดาษขาวสำนักงาน กระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษสี มัดตั้งให้เรียบร้อยก่อนทิ้ง
สำหรับคำว่า "ขยะเปียก" แท้จริงแล้วคือคำที่ค่อนข้างจะสับสน คนเลือกใช้ชื่อนี้อยากจะหมายถึง ขยะอินทรีย์ที่สามารถจะย่อยสลายได้ดีโดยจุลินทรีย์ ขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เมื่อแยกแล้วสามารถจะเอาไปทำปุ๋ยหมักหรือเอาไปผลิตเป็นก๊าซมีเทนเพื่อเอาไปใช้เป็นพลังงาน
ดังนั้น ขยะอินทรีย์ที่เราควรจะแยกได้แก่เ เศษอาหาร เศษผักผลไม้ กระดาษทิชชูใช้แล้ว (ทั้งแบบเปียกชื้นและแบบแห้ง) การใช้คำว่าขยะเปียกทำให้คนเข้าใจผิดและสับสน เช่นกระดาษทิชชูนั้นย่อยสลายได้ดี เมื่อใช้แล้วก็ควรทิ้งในถังขยะอินทรีย์ หรือถังขยะเปียก ทั้งทิชชูที่เปียกหรือทิชชูแห้ง
นอกจากนี้ ถุงพลาสติกใส่อาหารเปื้อนเปียกเศษอาหาร แต่ไม่ใช่ขยะเปียกเพราะย่อยสลายไม่ได้ง่ายๆ ผู้ทิ้งขยะควรจะรีดเอาเศษอาหารออกให้หมดจากถุงให้เหลืออยู่ให้น้อยที่สุด ถึงแม้ถุงยังเปียกอยู่ก็ต้องทิ้งในถังขยะแห้ง
"ขยะขายได้หรือขยะรีไซเคิล ก็ควรแยกออกไปตั้งแต่ต้น เพื่อให้มีกระบวนการในการนำขยะกลับไปใช้ใหม่"
การทิ้งขวดน้ำที่รีไซเคิลได้ควรจะเทน้ำออกและไม่ควรจะยัดหลอดหรือขยะอื่นๆ เข้าไปในขวด ถ้าบีบให้แบนได้จะลดพื้นที่จัดเก็บทำให้การขนส่งดีมากขึ้น ขนส่งได้ปริมาณมากขึ้น
ถังขยะไม่ควรจะถูกเรียกว่าถังขยะเปียกหรือถังขยะแห้ง เพราะจะทำให้คนสับสน เราควรจะเรียกมันตามลักษณะที่แท้จริงและตรงกับการนำไปดำเนินการต่อ ได้แก่
1) ถังขยะรีไซเคิลขายได้ พร้อมระบุที่ถังหรือมีรูปให้ชัดเจนว่าถังขยะนี้รับขยะรีไซเคิลอะไรบ้างที่ขายได้
2) ถังขยะอินทรีย์: พร้อมระบุที่ถังหรือมีรูปให้ชัดเจนว่าถังขยะนี้รับขยะที่ย่อยสลายได้ดี พร้อมเอาไปหมักปุ๋ย หรือผลิตก๊าซมีเทน ได้แก่ เศษอาหาร เศษผักผลไม้
3) ถังขยะอื่นๆ : เพื่อทิ้งขยะนอกเหนือจากสองอย่างข้างต้น
นอกจากนี้ควรรณรงค์ให้ผู้ทิ้งเข้าใจการทิ้งขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ กรณีไม่มีถังขยะอันตรายโดยเฉพาะ ให้ใส่ถุงพลาสติกใสเพื่อให้เห็นของด้านในได้ง่าย มัดปากถุง ป้องกันการปนเปื้อนสู่พนักงานเก็บขนขยะ
ขอเอาใจช่วยให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดการกับขยะให้ได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป.