ชุมชนสหกรณ์แบบประชาชนจัดการตนเอง | วิทยากร เชียงกูล
แม้ทุนนิยมโลกจะขยายตัวมาก รวมทั้งทุนนิยมโดยรัฐ เช่น จีน แต่ก็มีการจัดตั้งชุมชน/ประชาคมในแนวสหกรณ์ ที่สมาชิกร่วมมือกันอย่างเสมอภาคและอิสรเสรี โดยไม่ต้องมีรัฐบาลขึ้นในพื้นที่ต่างๆ
ในยุคสมัยต่างๆ นับร้อยแห่ง ส่วนใหญ่ที่ก้าวหน้ามากแบบสังคมนิยมแนวอนาคิสต์จะดำรงอยู่ได้ช่วงสั้นๆ เพราะถูกรัฐขัดขวาง ปราบปราม หรือมีปัญหาอุปสรรคภายในด้านต่างๆ แต่ก็มีชุมชน/ประชาคมแนวนี้หลายแห่งที่อยู่ได้นานพอสมควร มาจนถึงยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น
1. Sarvodhya Shramadana Mouement ขบวนการสรรโวทัย ศรีลังกา ก่อตั้งขึ้นในปี 1958 (64 ปีมาแล้ว) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีปรัชญาแนวพุทธศาสนาเพื่อสังคมและคานธีนิยม เน้นการพึ่งพาตนเองระดับหมู่บ้าน การร่วมมือทำงานและแบ่งปันปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิตแบบเอื้อเฟื้อกัน ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกัน ไม่หวังความร่ำรวย ความฟุ่มเฟือยทางวัตถุ
2. Freetown Christina เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก่อตั้งปี 1971 (51 ปีมาแล้ว) เป็นชุมชนแบบสมัครใจแนวสังคมนิยมอนาคิสต์ เน้นความเป็นอิสระไม่พึ่งรัฐ พื้นที่ในเขตนี้ที่มีราว 50 ไร่ เดิมเป็นค่ายทหารและทางเดินบนกำแพงเก่าที่ถูกทอดทิ้ง มีคนไร้บ้านแอบเข้าไปอาศัยอยู่บ้าง
ในปี 1971 ขบวนการคนหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายเข้าไปยึดพื้นที่นี้เป็นเขตที่อยู่อาศัยและเป็นเขตอิสรเสรีของประชาชนที่ต้องการสร้างสังคมที่ปกครองตนเองแบบคอมมูนเพื่อสุขภาวะของสมาชิก มีคนทยอยกันเข้าไปอยู่อาศัยราว 850-1,000 คน มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกการทำสมาธิ โยคะ ทำโรงละคร และกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ
รัฐบาลหลายชุดพยายามผลักดัน ขับไล่พวกเขาออกไปจากที่ของรัฐ แต่ทำไม่สำเร็จ มีความขัดแย้งและต่อสู้กันตลอดมา เนื่องจากปัญหาบ้านในเมืองใหญ่ในยุโรปมีราคาสูงมาก
คนไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนเข้าข้างหรือเห็นใจพวกขบวนการ Squatter (เข้าไปยึดบ้านร้างทำเป็นที่อยู่) และรัฐบาลบางชุดต้องประนีประนอม
จนในที่สุด 2 ฝ่ายตกลงเจรจากันได้ ผู้เข้าไปอยู่อาศัยในเขตเมืองคริสตีนาตกลงจ่ายค่าที่ดินแบบผ่อนส่งให้รัฐบาลในราคาที่ต่ำกว่าตลาด รัฐบาลชุดต่อๆ มา โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นเข้าไปช่วยเหลือ มีการออกแบบผังเมืองและช่วยปรับปรุงอาคารบ้านเรือนให้สวยงามขึ้น
ปัจจุบันที่แห่งนี้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ไปเมืองโคเปนเฮเกนแห่งหนึ่ง มีโรงงานทำสุรา 2 แห่ง มีร้านขายอาหารเครื่องดื่มริมถนน ร้านขายหัตถกรรมของที่ระลึกและอื่นๆ
3. Exarcheia เอเธนส์ กรีก เป็นชุมชนแบบอนาคิสต์และสังคมนิยม ก่อตั้งปี 1973 (49 ปีที่แล้ว) ส่วนหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคเอเธนส์ ในปี 1973 นักศึกษาประท้วงรัฐบาลและยึดครองมหาวิทยาลัย ตำรวจส่งกำลังเข้าไปปราบ นักศึกษา ประชาชน เสียชีวิต 40 คน
ทำให้ประชาชนทั้งประเทศไม่พอใจรัฐบาลมาก ในตอนหลังรัฐบาลต้องออกกฎหมายให้บริเวณมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ห้ามตำรวจ ทหาร เข้าไป ทำให้พวกนักประท้วงการเมืองใช้เป็นสถานที่หลบภัยจากการใช้กำลังของตำรวจ และเป็นศูนย์กลางการชุมนุมประท้วงรัฐบาล
ต่อมาพวกผู้อพยพและผู้ลี้ภัย พวกนักศึกษา ศิลปิน ได้เข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น และพัฒนาต่อมาเป็นชุมชนของพวกอนาคิสต์ มีร้านกาแฟ ร้านขายหนังสือ ร้านขายแผ่นเสียงและอื่นๆ
ชุมชนแห่งนี้มีทั้งส่วนใหญ่ที่เป็นอาคารที่ถูกยึดครองและอาคารที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว พวกเขาถูกขับไล่และยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลหลายชุดมาตลอด บางช่วงมีสมาชิกอยู่ในชุมชนแห่งนี้เราราว 10,000 คน
4. Federation of Netghborhood Councils - Elalto แห่งแคว้น Elalto ประเทศโบลิเวีย สหพันธ์ เครือข่ายของคณะกรรมการชุมชนแบบจัดการตนเอง 600 แห่ง ที่ให้บริการสาธารณะ
การก่อสร้างและงานกับประชาชนในแคว้นเอ็ลอัลโต ผสมผสานการบริหารจัดการเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการด้วยตนเอง ที่ชนพื้นเมืองเคยทำกันมาก่อน เข้ากับแนวคิดแบบสหภาพนิยม (Sydicalism) โดยคนงานเหมืองแร่หัวก้าวหน้าในยุคทศวรรษ 1980
ชุมชนแบบสหกรณ์แต่ละแห่งมีสมาชิกราว 200 กว่าคนขึ้นไป พวกเขาเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของตัวเอง มีตัวแทนผู้หญิงด้วยราว 20-30% คณะกรรมการชุมชนประชุมกันเดือนละครั้ง ตัดสินใจเรื่องนโยบาย โครงการหลังจากการอภิปรายและการลงมติ
คณะกรรมการของแต่ละชุมชนส่งตัวแทนไปประชุมร่วมกับชุมชนอื่นๆ ด้วย คนที่จะสมัครเป็นตัวแทนได้ต้องไม่ใช่ผู้นำของพรรคการเมือง พ่อค้า นักเก็งกำไรที่ดิน หรือคนที่ร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการ
สมาชิกชุมชนบริหารจัดการเศรษฐกิจกันเองโดยคนงานและผู้ค้ารายย่อย ผ่านสมาคมผู้ค้ารายย่อย สหภาพแรงงาน คนขับแท็กซี่และคนขับรถเมล์ และอื่นๆ สหพันธ์ชุมชนแห่งนี้ยังทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ ด้วย
5. Marinaleda เมืองเซวิล สเปน จากหมู่บ้านยากจนขาดแคลน คนว่างงานมาก ที่นายกเทศมนตรีฝ่ายซ้ายและประชาชนร่วมกันจัดตั้งเป็นชุมชนแบบสังคมนิยมอนาคิสต์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนมาตั้งแต่ปี 1979 (43 ปีจนถึงปัจจุบัน) เป็นหมู่บ้านทำการเกษตรที่ต่อมาสามารถแก้ไขการว่างงาน ความยากจน อย่างได้ผล
แม้แต่ในยุควิกฤตเศรษฐกิจการเงินทั่วโลกในปี 2008 ก็ไม่มีผลกระทบ เพราะพวกเขาพึ่งตนเองได้เป็นหลัก ทำงานร่วมกันและแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม
6. Popular Indigenous Council of Oxaca เมือง Oxaca ประเทศเม็กซิโก คณะกรรมการชนพื้นเมืองเพื่อประชาชนแห่ง Oxaca จัดตั้งหมู่บ้านชนบทซึ่งประกอบไปด้วยชนพื้นเมืองหลายเผ่ารวมกัน 26 แห่ง แบบคอมมูนสังคมนิยมอนาคิสต์ มีสมาชิกรวมราว 2,000 คน
แต่ละชุมชนมีที่ดินเป็นของส่วนรวม การบริหารจัดการโดยประชาชนมีการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างเป็นประชาธิปไตย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1980 (36 ปีจนถึงปัจจุบัน)
องค์กรประสานงานของคณะกรรมการที่นี่ยังเปิดรับคนที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองเข้าร่วม พวกเขาสนับสนุนองค์กรชุมชนแบบเดียวกันในที่อื่นๆ รวมทั้งประเทศอื่นๆ ด้วย
7. Rebel Zapatista Autonomous Municpalities เมือง Chiapas ประเทศเม็กซิโก เขตการปกครองตนเองของกบฏซาปาติสต้า จัดตั้งปี 1993 (29 ปีที่แล้ว) ขบวนการชาวนาในที่ดินยากจนที่ติดอาวุธเข้ายึดเมือง ยึดที่ดินจากเจ้าที่ดินใหญ่กว่า 2.5 ล้านไร่ มาจัดสรรให้ชาวนาจำนวนมากได้ทำกินแบบคอมมูน สหกรณ์ ส่งเสริมการศึกษา การสาธารณสุข การมีงานทำ การสร้างที่อยู่อาศัย บริการด้านพลังงานและอื่นๆ
มีความขัดแย้งต่อสู้และเจรจากับฝ่ายรัฐบาลชุดต่างๆ มาตลอด พวกเขายังยืนหยัดมาได้ถึงปัจจุบัน ตอนหลังมีการเจรจาตกลงประนีประนอมกัน ทำให้ระบบบริหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทศบาลของรัฐอย่างเป็นทางการด้วย
กองทัพประชาชนซาปาติสต้าทำหน้าที่แค่ป้องกันการรุกราน แต่ไม่ได้เข้าไปบริหารชุมชน พวกเขาถือหลักอนาคิสต์ว่าประชาชนแต่ละชุมชนควรบริหารจัดการกันเองโดยไม่ต้องมีรัฐบาลกลาง คำขวัญของกองทัพคือ “ที่นี่ประชาชนเป็นคนออกคำสั่ง และกองทัพเป็นฝ่ายเชื่อฟัง”
8. Barcelona’s Squatter Movement ขบวนการเข้าไปยึดครองอาคารที่ถูกทอดทิ้งในเมืองบาร์เซโลนา สเปน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน (22 ปี) ทำเป็นศูนย์ให้บริการทางสังคม 40 แห่ง และบ้านที่อยู่อาศัย 200 แห่ง เป็นชุมชนแบบสังคมนิยมอนาคิสต์
สมาชิกบริหารจัดการกันเอง ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาตนเอง ช่วยกันทำงานทุกอย่างเอง ช่วยเหลือกันและกัน ตามแนวคิด Mutual Aid มีศูนย์บริการทางสังคม
เช่น ซ่อมจักรยาน การฝึกโยคะ การฝึกการรักษาเยียวยาสุขภาพตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติ ห้องสมุด สวน กลุ่มทำละคร และงานศิลปะต่างๆ ครัวทำอาหารของส่วนรวม ให้บริการคอมพิวเตอร์และข้อมูลข่าวสาร
ทั้งหมดทำโดยคนทำงานอาสาสมัคร และให้บริการฟรี แต่สมาชิกบางคนก็ไปทำงานบางเวลาข้างนอก เพราะกิจกรรมบางอย่าง เช่น การรักษาพยาบาลหรือไปศาลต้องใช้เงิน
นอกจากนี้ก็มีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดการตนเองเพื่อสังคม (Self-Manage) ต่างๆ ในหลายเมืองที่ให้บริการฟรีหรือมีหนังสือ เสื้อผ้า สินค้าของใช้ และอื่นๆ ให้คนมาเลือกหยิบไปใช้ได้ฟรี คนทำงานเป็นอาสาสมัครที่รับค่าจ้างตามแนวคิดของพวกสังคมนิยมอนาคิสต์.