Soft Power โอกาส "ไทย" ในเอเชีย ต้องรู้เขารู้เรา
อัปเดตความเคลื่อนไหว Soft Power โอกาส "ไทย" ในเอเชีย ต้องรู้เขารู้เรา
น่าสนใจ กรณีกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเวทีพูดคุย “Soft Power กับโอกาสในเอเชีย” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ZOOM Meeting เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีภารกิจงานเกี่ยวข้องกับงานการส่งเสริมอำนาจละมุน (Soft Power) ได้แก่ กองภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่ม ป.ย.ป. ในกระทรวงวัฒนธรรมและกลุ่มพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ กองการต่างประเทศและกองเศรษฐกิจวัฒนธรรม เข้าร่วม
ร่วมทั้ง วรรณสิริ โมรากุล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม, นวลวรรณ ดาระสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ และคณะวิทยากรจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ , ศาสตราจารย์ ดร. ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ , ดร.อารีฝีน ยามา , นายอดิศร เสมแย้ม , นายจตุพร สุวรรณสุขุม และนายสมาน เหล่าดำรงชัย
สรุปความเบื้องต้นจาก ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ (2565) ดังนี้
"ดร.ทอม" ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ ยกตัวอย่างญี่ปุ่นว่า soft power ในมิติเสน่ห์วัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาจากความพร้อมของตัวผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว soft power หลายอย่างจึงเป็นเสมือนตัวเสริมการเผยแพร่คล้าย ๆ หลักการ Promotion ใน 4P ประเด็นคือถ้าไทยมุ่ง soft power ทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะความบันเทิง ควรต้องนึกถึงการทำงานให้มันโดนเป็นอันดับแรกเหมือนศิลปินญี่ปุ่น ไม่ใช่ใส่ใจแต่ยุทธศาสตร์การส่งออก ศิลปินญี่ปุ่นมี passion สูงมาก ทำออกมาจนได้เนื้องาน ซึ่งคนดูทั่วโลกยอมรับ ไม่ว่าอย่างไร ญี่ปุ่นชมชอบไทยหลายเรื่อง ละครบีแอลบ้านเราก็ไปเปิดพื้นที่ในบ้านเขา แปลว่างานบ้านเราโดนใจบ้านเขาไม่น้อย
ไอเดียจาก ดร.ทอม น่าศึกษาตัวอย่างงานไทยที่เป็นที่ยอมรับก็ได้รวมทั้งศึกษางานชาติอื่น ๆ เอามาวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร แต่ไม่ใช่ทำตาม เพราะทำตามจะไม่เกิดการต่อยอด
ดร.อารีฝีน ยามา แห่งศูนย์มุสลิมศึกษาพูดถึงตลาดอาหรับ คนอาหรับเห็นแบบนี้ เสพความบันเทิงฮอลลีวูดอยู่ รองลงมาก็เป็นภาพยนตร์/ซีรีส์จากอียิปต์ ตามด้วยอินเดีย ของอินเดียเป็นที่นิยมเพราะแรงงานอินเดียในประเทศกลุ่มอาหรับเยอะ อีกประเทศที่มาแรงคือตุรกี คนอาหรับมองว่า มันเป็นส่วนผสมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ประเทศไทยก็สามารถส่งออกสื่อบันเทิงไปบ้านเขาได้ แต่ต้องเข้าใจความจำเพาะของเขาในเรื่องศาสนา วิถีชีวิต ส่วนคนบ้านเขามาบ้านเราเยอะ ชอบไมตรีจิตของเรา ชอบบริการทางการแพทย์ของเรา ฯลฯ
อ.จตุพร สุวรรณสุขุม อธิบาย จีนและอินเดีย ขอยกตัวอย่างสั้น ๆ คนอินเดียมาไทยค่อนข้างมาก เขาชอบบรรยากาศท่องเที่ยวไทย แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เข้าใจคือ เวลาเราโปรโมทการท่องเที่ยว เรามักเอาอาหารอย่างผัดไทยกับต้มยำกุ้งไปแสดง เขาไม่พิสมัย ส่วนคนจีน บางครั้งมาท่องเที่ยวไทยเพราะตามรอยซีรีส์บ้านเขาที่มาถ่ายทำบ้านเรา เขาอยากมาถ่ายรูปกับเซ็ตในซีรีส์ แต่อนิจจา เจ้าของร้านทุบทิ้งไปแล้ว ประเทศจีนคลั่งไคล้ไทยเยอะอยู่ เพียงแต่มันมีมาตรการที่ต้องระวัง มันคือการควบคุมเนื้อหาในความบันเทิงและโซเชียลมีเดีย ดังนั้นความบันเทิงไทย ถ้าจะไปไม่ว่าอินเดีย หรือ จีน ต้องศึกษากติกา ความเป็นอยู่ความชอบด้วย
อ.สมาน เหล่าดำรงชัย จากศูนย์ ARCM กล่าวถึงไต้หวัน เห็นเป็นเกาะ ประชากร 23 ล้าน แต่พลังซื้อเขาติดอันดับโลก คนไต้หวันชอบไทยมาก ซีรีส์เรา นักแสดงเราเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้ชมที่นั่น ในเวลาเดียวกันไต้หวันต้องการผูกสัมพันธ์กับเราเสมอ มาจัดงานวัฒนธรรมบ่อยครั้ง เพียงแต่ความร่วมมือเรากับเขาติดขัดนโยบายจีนเดียว ดังนั้นเราต้องทำความร่วมมือระดับกรม ไม่ใช่กระทรวง แต่มันไม่สำคัญ ผู้ประกอบการของเราสามารถติดต่อเขา ได้เพื่อไปจัดงานแสดงร่วม อ.สมานย้ำว่า เรื่องความบันเทิงไม่ใช่เรื่องที่อ่อนไหวต่อนโยบายจีนเดียว
สำหรับผู้เขียนมองว่า การที่หน่วยงานที่มีภารกิจงานเกี่ยวข้องกับงานการส่งเสริมอำนาจละมุน (Soft Power) ได้แก่ กองภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่ม ป.ย.ป. ในกระทรวงวัฒนธรรมและกลุ่มพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ กองการต่างประเทศและกองเศรษฐกิจวัฒนธรรม ได้เปิดรับข้อมูลจากนักวิชาการ เพื่อปรับจูนความรู้หรืออัปเดตความเคลื่อนไหวของประเทศที่เราสามารถใช้ Soft Power เพื่อการพัฒนาสร้างมูลค่าให้ประเทศ ล้วนเป็นเรื่องเป็นการรุกในก้าวใหม่อันมีนัยสำคัญยิ่ง.