การก้าวผ่าน New Normal ไปสู่ Next Normal เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

การก้าวผ่าน New Normal ไปสู่ Next Normal เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยชะลอแผนการลงทุนในภาคธุรกิจอื่น ๆ ไปด้วย

แน่นอนว่าการชะลอการลงทุนย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ที่เป็นเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแบบผสมและเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ต้องลดลง ทำให้เกิดการแย่งงานของภาคธุรกิจ ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะหยุดลง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ในช่วงเดือน พ.ค.2564 จนทำให้ยอดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่หยุด ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ชะลอแผนการลงทุนออกไปอีกครั้ง

การชะลอการลงทุนทำให้สถานการณ์ของภาคธุรกิจในปัจจุบันย่ำแย่มาก หลายธุรกิจจ่อปิดกิจการ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งช่วงที่เศรษฐกิจที่ดีและไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจดีคนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่ามีความสุขมากกว่า เพราะว่ามีเงินใช้อย่างคล่องมือ ต่างกับช่วงเวลาเศรษฐกิจไม่ดีที่นอกจากจะรู้สึกว่าจับจ่ายใช้สอยได้น้อยลงกันแล้ว บางคนอาจจะต้องหยุดงานหรือเปลี่ยนงานไปเลยก็มี 
 

การก้าวผ่าน New Normal ไปสู่ Next Normal เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

(ภาพถ่ายโดย Kaique Rocha)

วงจรเศรษฐกิจของไทยนั้น มีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน 3 กลุ่มด้วยกันคือ ภาคครัวเรือน (Households) ภาคธุรกิจ (Business Sector) และรัฐบาล (Government) โดยความสัมพันธ์จะเริ่มต้นจากภาคครัวเรือนที่ขายปัจจัยการผลิต ซึ่งนั่นก็คือแรงงานและที่ดินผ่านตลาดทรัพยากร หรือ “Resource Market” ให้กับภาคธุรกิจ

เพื่อเป็นปัจจัยการผลิต ภาคธุรกิจมีเงินทุนแต่ว่าก็ต้องมีพนักงานมาทำงานให้ และต้องมีที่ดินสำหรับสร้างโรงงานผลิตสินค้า สร้างห้างสรรพสินค้า หรือสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างที่เอาไว้ทำมาหากิน จากนั้นภาคธุรกิจก็จะจ่ายค่าตอบแทน อาทิเช่น ค่าจ้าง ค่าเช่าที่ดิน ค่าซื้อที่ดิน คืนแก่ภาคครัวเรือน และนั่นจึงทำให้ภาคครัวเรือนมีรายได้นั่นเอง 

ทั้งนี้ ภาคครัวเรือนก็นำรายได้ที่มีมาซื้อสินค้าจากภาคธุรกิจอีกทีหนึ่ง โดยรายได้ที่ครัวเรือนได้จากธุรกิจหนึ่งอาจจะนำไปซื้อสินค้าจากอีกหลาย ๆ ธุรกิจ และธุรกิจก็มีรายได้นำมาจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงานของตัวเองอีกที สิ่งนี้ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ ทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจนั่นเอง

แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป “บ้าน” ไม่ได้เป็นแค่ “ที่อยู่อาศัย” อีกต่อไป แต่ยังเป็นออฟฟิศ ห้องประชุม ฟิตเนส หรือแม้กระทั่งโรงภาพยนตร์ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้สามารถใช้งานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งนั่นหมายความว่าการใช้ชีวิตไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

การก้าวผ่าน New Normal ไปสู่ Next Normal เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

(ภาพถ่ายโดย cottonbro)

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็สร้างผลกระทบและเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเราในทุกด้านแบบไม่ทันตั้งตัว จนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New Normal ที่เราทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาความสะอาด รักษาระยะห่าง ลดการเดินทาง เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและแพร่เชื้อ แต่ถึงอย่างไรเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ยังไม่หายไปไหน

ทุกคนยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคระบาดนี้ สิ่งที่ทำได้คือ การปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อไปต่อสำหรับวิถีชีวิตปกติในลำดับถัดไป ที่มีชื่อว่า Next Normal ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การทำงาน การเดินทาง รวมไปถึงการดูแลสุขภาพ 

เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของไทยต้องปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งมาตรการรัฐและนโยบายของแต่ละภาคธุรกิจที่ออกมาขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม ให้ทำงานแบบ Work From Home คนทำงานในทุกภาคธุรกิจจึงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เพื่อทำให้สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้เพียงปลายนิ้ว ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น แอปพลิเคชัน Zoom หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่า Stay-at-home economy

ดังนั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงทำให้ระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนต้องหันมาตระหนักถึงการก้าวผ่านจาก New Normal ไปสู่ Next Normal เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล จึงจะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งมีทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นพื้นฐาน (Digital Literacy) ในการพัฒนาและการให้บริการของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการก้าวผ่านจาก New Normal ไปสู่ Next Normal และเป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

แต่การฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคมของทุกคนในประเทศ ในการรับมือสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 อย่างมีสติ

การก้าวผ่าน New Normal ไปสู่ Next Normal เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

คอลัมน์ เวทีวิพากษ์นโยบายสาธารณะ
ดร. มรกต ณ เชียงใหม่
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล