คำพิพากษาฎีกาคดีผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

คำพิพากษาฎีกาคดีผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ปี 2522 ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522    ออกใช้บังคับ เมื่อผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว รัฐบาลได้นำร่างขึ้นบังคมทูล และได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่30 เมษายน พ.ศ.2522

จากนั้นมีผลใช้บังคับ ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 5พฤษภาคม พ.ศ.2522 เป็นต้นไป และได้ถือเอาวันที่ทรงลงพระปรมาภิไธย 30 เมษายน เป็นวันคุ้มครองผู้บริโภค ต่อมาในปี พ.ศ.2551 สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้นอีกระดับหนึ่ง

โดยมีการตรา พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ออกใช้บังคับ โดยมีเหตุผล คือในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคขาดอำนาจต่อรอง ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายใช้เวลานานและมีขั้นตอนยุ่งยากที่ให้ผู้บริโภคต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง

อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ หลักการสำคัญคือกำหนดให้มีวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพ

อันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น

 เมื่อพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ออกใช้บังคับ มีคดีผู้บริโภคสู่การพิจารณาของศาลฎีกามากมายหลายคดี คำพิพากษาศาลฎีกาคดีผู้บริโภค ที่เป็นบรรทัดฐาน เป็นการวางหลักที่เอื้อต่อผู้บริโภคมาก เช่น    

ระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจ            
คำพิพากษาศาลฎีกาที่1625/2563
                พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 บัญญัติขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้สิทธิและในการชำระหนี้ให้สูงกว่าที่บุคคลทั่วไป เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคหากผู้ประกอบธุรกิจดำเนินกิจการ โดยเลือกวิธีการใช้สิทธิหรือชำระหนี้ในเกณฑ์ที่ด้อยกว่าระดับมาตรฐานความสุจริตดังกล่าว

ย่อมเท่ากับว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริต ซึ่งศาลย่อมไม่อาจบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริตได้ แม้มีข้อสัญญาบังคับผูกพันลูกหนี้ทำนองเปิดช่องไว้ให้  ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาไม่บังคับให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยอันเกิดแต่การใช้สิทธิไม่สุจริตของผู้ประกอบธุรกิจได้ 

 สืบพยานบุคคลแทนหรือหักล้างพยานที่เป็นหนังสือได้ทั้งกรณีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องและเป็นผู้ฟ้อง
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2562
                แม้นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดถึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้จะไม่ได้ถูกทำขึ้นหรือสัญญาที่ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้หากผู้บริโภคได้วางมัดจำหรือชำระหนี้  เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่เพียงต้องการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะโจทก์เท่านั้นหากยังมุ่งคุ้มครอง แก่ผู้บริโภคในกรณีที่เป็นจำเลยอีกด้วย 


                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2563
               ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 10 วรรคแรกบัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บังคับให้นิติกรรมใดต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้นั้นมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้บริโภคในการฟ้องร้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระหนี้” รวมถึงในกรณีผู้บริโภคถูกฟ้อง มิให้นำมาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับผู้บริโภคสามารถนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างที่เปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญากู้ได้ด้วย        

ปกปิดข้อเท็จจริง โฆษณาเกินจริง เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่1808/2561
           การที่ จำเลยปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะถูกเวนคืน หาก ผู้บริโภคทั้งสองทราบข้อเท็จจริงนี้ก็จะไม่เข้าทำสัญญา การปกปิดข้อเท็จจริงของจำเลยย่อมเข้าลักษณะอันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าด้วย  

ดังนั้น ผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รับรองไว้


              ค่าเสียหายของผู้บริโภค เป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์  ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปาและค่าธรรมเนียม ทำสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้    เป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย

สำหรับการที่ผู้บริโภคทั้งสองนำบ้านและที่ดินจำนองต่อธนาคาร น. ก็เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดิน ก็เป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากจำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้บริโภคทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย

โดยต้องกู้เงินจากธนาคารซึ่งมีภาระดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่กู้เป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแก่ธนาคาร ส่วนที่ผู้บริโภคทั้งสองจำนองบ้านพร้อมที่ดินแก่ธนาคารให้ผู้กู้และต้องชำระค่าประกันอัคคีภัย โดยให้ธนาคารผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย

เบี้ยประกันภัยตามที่โจทก์ฟ้องย่อมเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากจำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวเช่นกัน สำหรับส่วนต่างของราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้แก่ผู้บริโภคทั้งสอง ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาสูงขึ้นนั้น เป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้


สละการพิจารณาอย่างคดีผู้บริโภค
 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2562
               พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 8 วรรคหนึ่งคู่ความชอบที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นอย่างช้าในวันชี้สองสถานหรือในวันสืบพยานในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถานเพื่อขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามมาตรา 8 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า

คดีนี้เป็นคดีผู้บริโภคก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แถลงสละประเด็นข้อต่อสู้ดังกล่าวและไม่ขอให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เท่ากับจำเลยทั้งสี่ยอมรับอำนาจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้อย่างคดีแพ่งทั่วไปและมิได้ประสงค์ให้ใช้วิธีพิจารณาคดีนี้อย่างคดีผู้บริโภค ทั้งเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่


จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว;  เพื่อมิให้เสียสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างคดีผู้บริโภคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่าการพิจาณาคดีอย่างคดีแพ่งทั่วไป ผู้บริโภคจึงไม่ควรแสดงเจตนาหรือดำเนินการที่เป็นการยอมรับว่าสละสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างคดีผู้บริโภค.